แหล่งทำปิ่นปักผมบ้านทับ

ที่ตั้ง : บ้านทับ ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม

    ในหนังสือ “อดีตแม่แจ่ม” ของ พ.ต.อ.อนุ เนินหาด ได้กล่าวบทนำไว้ว่า “ในแม่แจ่ม ใครๆก็รู้จักพ่อหลวงกอนแก้ว อินต๊ะก๋อน” เรื่องราวของการทำปิ่นปักผมที่เขียนในบทนี้จึงขออนุญาตนำมาจากหนังสือ อดีตแม่แจ่ม ของ พ.ต.อ.อนุ เนินหาด ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่แจ่ม

    พ่อกอนแก้ว อินต๊ะก๋อนเป็นลูกของพ่อปัน – แม่ปัน อินต๊ะก๋อน เกิดที่บ้านแม่ปาน ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม เมื่อพ.ศ.2470 เป็นลูกคนโต มีน้องอีก 3 คน เสียชีวิตแล้ว 2 คน เหลือน้องชายอีก 1 คน คือนายบุญตัน อินต๊ะก๋อน อยู่บ้านสันหนอง (ลูกๆมีกิจการร้านบุญตันฯ) พ่อกอนแก้วมีภรรยา 3 คน ลูก 11 คน ภรรยาคนปัจจุบันคือแม่สุข อินต๊ะก๋อน มีลูก 3 คน คือนางบัวจันทร์ นิปุณะ นางฝอยทอง จันทร์เหมย และนางบุปผา เชียงแสน

    พ่อกอนแก้วเริ่มทำปิ่นปักผมมาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ ไม่ได้เรียนจากที่ไหนเอาของเก่ามาดูแล้วก็หัดทำเพราะชอบและพัฒนาฝีมือขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนทำแจกญาติผู้หญิงไม่ได้ทำขาย อาชีพเดิมคือทำไร่ทำนา เป็นช่างก่อสร้างบ้าน เคยไปรับจ้างทำ “โฮงฝรั่ง” ที่บ้านสบวาก นอกจากนี้ยังเป็นช่างปั้นพระพุทธรูปหลายๆวัดในแม่แจ่ม ช่างทำโบสถ์ วิหาร ช่างแกะสลัก ทำปูนปั้นตามวิหาร ทำประสาทเพื่อใส่ศพ ที่ชอบมากคือทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง เช่นทำปี่ ซึง และชอบเล่นเองด้วย เมื่อมีงานซอที่ไหนพ่อกอนแก้วจะเป็นช่างปี่ทุกครั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ได้มอบเกียรติบัตรให้พ่อกอนแก้วเป็นช่าง 10 หมู่

    ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำปิ่นเพียงอย่างเดียวเพราะมีผู้ซื้อทั้งในเมืองแม่แจ่มและภายนอก คนรู้จักเพิ่มขึ้นทุกปี จนทำไม่ทันจึงสอนลูก 2 คน คือนางบัวจันทร์ นิปุณะและนางบุปผา เชียงแสน 3 คนพ่อลูกช่วยกันทำตลอดมา โดยมีแม่สุขนั่งปั่นฝ้ายอยู่ใกล้ๆกันจึงทำให้บ้านพ่อกอนแก้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ทั้งด้านการทำปิ่น ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าจากพ่อกอนแก้ว และการทอผ้าตีนจกใต้ถุนบ้าน เป็นวิถีชีวิตที่อบอุ่นและมีเสน่ห์อยู่ในตัว พ่อกอนแก้วละสังขารจากไปเมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2556 คงเหลือแต่แม่สุขและลูก 2 คน ยังทำปิ่นสืบทอดจากพ่อ หวังว่าบ้านที่อบอุ่นหลังนี้จะรักษาบรรยากาศเดิมๆ ไว้ได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับทุกๆคนดั่งที่พ่อกอนแก้วได้ทำไว้

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 06 มี.ค. 2563 15:43