...


ความเป็นมาของเมืองแม่แจ่ม

ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันได้ถึงความเป็นมาของอำเภอแม่แจ่ม มีเพียงตำนานเล่าสืบกันมาว่า สิงห์สองตัวซึ่งเป็นพี่น้องกันต่อสู้เพื่อแย่งพื้นที่หากิน พระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาตรัสถามจนทราบแล้วทรงช่วยโดยใช้ไม้ขีดที่พื้นดินเพื่อแบ่งพื้นที่ให้สิงห์แต่ละตัว รอยขีดนั้นต่อมาได้กลายเป็นลำห้วย เรียกกันสืบมาว่า “ห้วยช่างเคิ่ง” ซึ่งหมายความว่า แบ่งครึ่งกันไว้ ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่ดอนสะกานราษฎรนำข้าวปลาอาหารไปถวาย แต่เนื่องจากราษฎรเหล่านี้ยากจน ข้าวปลาอาหารที่นำไปถวายมีน้อยเพราะขาดแคลน ได้ปลาเพียงครึ่งตัวไปถวายพระองค์ทรงรำพึงว่า “ บ้านนี้เมืองนี้มันแจมแต๊นอ” จึงได้ขนานนามเมืองนี้ว่า “เมืองแจม” ซึ่ง “แจม” หมายความว่าอดอยาก ขาดแคลน และเรียกลำนำ้สายใหญ่นี้ว่า “แม่แจม” และกลายเสียงเป็น “แม่แจ่ม” และ “เมืองแจ่ม”

อำเภอแม่แจ่มได้รับการจัดตั้งขึ้น เมื่อพ.ศ. 2477 ตั้งชื่อว่า “อำเภอช่างเคิ่ง” ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่บ้าน หมู่ 4 ตำบลท่าผาในปัจจุบัน (ดอนศาล) โดนมีนายชื่นฯ เป็นนายอำเภอคนแรก แต่ขณะนั้นราษฎรอดอยากขาดแคลนและไม่พอใจการเก็บภาษี จึงได้มีราาษฎรกลุ่มหนึ่งบุกเข้าปล้นที่ว่าการอำเภอและฆ่านายอำเภอตาย ทางราชการจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากดอนศาลไปอาศัยอยู่ที่วัดช่างเคิ่ง โดยมีท้าวสุดสนิทเป็นนายอำเภอ จนถึงพ.ศ. 2481 อำเภอแม่แจ่มถูกลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอแม่แจ่มขึ้นกับอำเภอจอมทอง และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภออีกครั้ง เมื่อปีพ.ศ. 2499 จนถึงพ.ศ. 2552 ทางราชการได้แยกตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแจ่มหลวงและตำบลแม่แดด ออกไปตั้งเป็นอำเภอกัลยานิวัฒนาทำให้ปัจจุบันอำเภอแม่แจ่มมี 7 ตำบล 108 หมู่บ้าน

ที่ตั้งและขนาดพื้นที่

อำเภอแม่แจ่มเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่มีเขตติดต่อกับพื้นที่อื่นดังนี้
– ทิศเหนือ ติดเขตอำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
– ทิศใต้ ติดเขตอำเภอจอมทอง อำเภอฮอต จังหวัดเชียงใหม่
– ทิศตะวันออก ติดเขตอำเภอสะเมิง อำเภอแม่วาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
– ทิศตะวันตก ติดเขตอำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

อำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,686.57 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 10 มีแม่น้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำแจ่ม หรือ น้ำแม่แจ่ม ตามภาษาถิ่น

สภาพภูมิอากาศ

อำเภอแม่แจ่มมีอากาศค่อนข้างเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีอุณภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 25 องศาเซลเซียส อุณภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31 องศาเซลเซียส อุณภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดทั้งปีร้อยละ 72 และสภาพภูมิอากาศอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งภูมิอากาศออกได้เป็น 3 ฤดู ได้แก่
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพาความหนาวเย็นมาจากประเทศจีน
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม โดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ประชากร

อำเภอแม่แจ่มมีประชากรทั้งสิ้นรวม 56,723 คน (พ.ศ. 2552) คิดเป็นร้อยละ 3.47 ของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ คิดเป็นความหนาแน่น 21.11 คน/ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ 5 กลุ่มได้แก่
คนเมือง (ไตยวน) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่ม
ปกาเกอะญอ อาศัยแถบที่ราบสูงตามเชิงเขา เป็นชนเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุด
ลัวะ ชนเผ่าดั้งเดิมของเมืองแม่แจ่ม
ม้ง ชนเผ่าที่มีการขยายตัวมากที่สุด
ลีซอ ชนเผ่าที่มีจำนวนน้อยที่สุด
อาชีพหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม ส่วนอาชีพเสริม ได้แก่ หัตถกรรม


การปกครอง

อำเภอแม่แจ่มจัดการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 7 ตำบล 108 หมู่บ้าน และจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลแม่แจ่ม เทศบาลตำบลท่าผา และองค์การบริหารส่วนตำบล 6 แห่ง (พ.ศ. 2556)


การเดินทางสู่อำเภอแม่แจ่ม

จากรุงเทพมหานคร-จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 696 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่เข้าสู่อำเภอแม่แจ่มมีทางเลือก 2เส้นทางคือ
เส้นที่ 1 ใช้ทาหลวงหมายเลข 108 สายเชียงใหม่-ฮอด แยกขวาก่อนถึงอำเภอจอมทองเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1009 เส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์ แล้วแยกซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 1192 เข้าสู่ตัวอำเภอแม่แจ่มรวมระยะทางประมาณ 115 กิโลเมตร (เส้นทางนี้มีระยะทางที่ใกล้กว่าแต่เมื่อแยกเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1192 ทางมีขนาดเล็กคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาที่มีความลาดชันสูง)
เส้นที่ 2 ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 สายเชียงใหม่-ฮอดเช่นกัน แต่ไม่ใช้เส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์ วิ่งผ่านอำเภอจอมทองสู่อำเภอฮอด แล้วแยกขวาไปตาทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านออบหลวงแล้วแยกขวาที่กิโลเมตร 22 สู่หมายเลข 1088 เข้าสู่ตัวอำเภอแม่แจ่มรวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางจากอำเภอแม่แจ่มเชื่อมต่ออำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1263 ระยะทาง 67 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านปางอุ๋ง ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม เป็นเส้นทางลัดของผู้เดินทางมาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่ต้องไปผ่านอำเภอแม่สะเรียงและอำเภอฮอด

สภาพภูมิประเทศ

เมืองแม่แจ่มมีที่ตั้งที่สัมพันธ์กับเทือกเขาถนนธงชัย 3 ทิวเขาย่อย คือถนนธงชัยตะวันตก ถนนธงชัยกลาง และถนนธงชัยตะวันออก ในเขตจังหวัดเชียงใหม่มี 2 ส่วน อีกส่วนหนึ่งกั้นเขตจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดตากมีดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดของประเทศไทยความสูง 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นภูเขาสูงจรดเมฆกางกั้นลมทำให้มีระดับน้ำฝนเฉลี่ยสูงกว่าพื้นราบคือ ไม่น้อยกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี ในฤดูหนาวบนดอยอินทนนท์จะมีเกล็ดน้ำค้างแข็งเกาะบนยอดหญ้า เมฆ และฝนให้ความชุ่มชื้นแก่ยอดเขาก่อให้เกิดเป็นแม่น้ำสำคัญ 4 สายได้แก่ น้ำแม่กลาง น้ำแม่ยะ น้ำแม่แจ่ม และน้ำแม่ปานกับลำห้วยน้ำขนาดเล็กอีกหลายสายที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง แอ่งที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่มตั้งอยู่บนพิกัดที่ละติจูด 18 องศา 15 ลิปดาเหนือ -19 องศา 10 ลิปดาเหนือ และลองติดจูดที่ 98 องศา 40 ลิปดาตะวันออก -99 องศา 15 ลิปดาตะวันออก ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของดอยอินทนนท์ในหุบเขาที่แยกตัวออกจากแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน แอ่งแม่แจ่ม มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดเล็ก แคบยาว พื้นที่เพาะปลูกมีน้อย ต้นน้ำแม่แจ่มอยู่ที่ดอยกิ่วป่าก้างไหลผ่านที่ราบหุบเขาไปบรรจบกับแม่น้ำปิงที่บ้านสบแจ่ม เขตติดต่อระหว่างอำเภอจอมทองกับอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีความยาวประมาณ 170 กิโลเมตร

เว็บไซต์แม่แจ่มอย่าง...แจ่ม

โครงการพัฒนาเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมเมืองแม่แจ่ม

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

ติดต่อ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
128 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

contact@maechaemculture.com