กลุ่มทอผ้าบ้านท้องฝาย

กลุ่มทอผ้าบ้านท้องฝาย
ที่ตั้ง : บ้านท้องฝาย ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม

    กลุ่มทอผ้าตีนจกเริ่มแรกโดยนางลำดวน สิทธิเดช โนทา ผู้ซึ่งมีโอกาสได้ไปฝึกทอตีนจกลายประยุกต์จากพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ประมาณปีพ.ศ.2520 และได้มาสอนชาวบ้านให้ทอตีนจกลายประยุกต์และรับซื้อตีนจกจากสมาชิกเพื่อส่งต่อให้กับศูนย์ศิลปาชีพฯ และร้านดารารัตน์ที่เชียงใหม่ มีสมาชิกเริ่มแรก 15 คน ทำต่อเนื่องตลอดมาโดยมีแม่สุดา สิทธิเดช เป็นผู้ช่วยดำเนินการจนมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นจึงมีการแยกกลุ่มโดยสมาชิกส่วนหนึ่งไปจัดตั้งกลุ่มขึ้นเองมีนางบุปผา เกษมศรเป็นประธานกลุ่มคนแรกเมื่อปีพ.ศ.2528 ช่างทอส่วนหนึ่งยังอยู่กับแม่สุดาและนางลำดวนเพราะมีรายได้แน่นอน กิจการที่บ้านแม่สุดาดำเนินต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.2553 จึงเลิกกิจการเพราะอายุมาก

    การดำเนินงานของกลุ่มโดยชาวบ้านค่อนข้างมีปัญหาด้านการตลาด กิจการจึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนประธานบ่อย บางครั้งกลุ่มก็ยุบลงไปเพราะไม่มีผู้ดำเนินงาน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2537 – 2545 เป็นระยะเวลาที่กิจการทอผ้าตีนจกบ้านท้องฝายเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดมีภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและวัสดุอุปกรณ์การทอผ้า และได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่นได้รับรางวัลหม่อมงามจิตร์บุรฉัตร เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2541

    ผู้ที่มีบทบาทเป็นประธานกลุ่มอีก 2 คน คือนางอินทร์ศรี กรรณิกาและนางพินดา ปิงกุล แต่ทั้ง 2 คนก็ทำได้ไม่นานต่างก็ออกมาดำเนินกิจการส่วนตัวนัยว่าไม่อยากมีปัญหากับชาวบ้าน กลุ่มทอผ้าบ้านท้องฝายตั้งแล้วล้ม ล้มแล้วตั้งใหม่จนถึงปีพ.ศ.2544 กลุ่มได้สลายตัวไปหมด ต่างก็เปิดกิจการส่วนตัว เช่นร้านดาราผ้าตีนจก ร้านประภาพรรณ ร้านพินดาผ้าตีนจก เป็นต้น

    ศูนย์หัตถกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม เกิดขึ้นจากนโยบายภาครัฐโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เงินก่อสร้างจำนวน 3 ล้านบาท ซึ่งมีนายสุรชัย จงรักษ์นายอำเภอแม่แจ่ม มีการประชุมตกลงสร้างขึ้นที่บ้านท้องฝายปีพ.ศ.2541

    ศูนย์หัตถกรรมแห่งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ที่มีสินค้าหรือของดีของงามเมืองแม่แจ่มแต่ไม่มีร้านค้านำมาวางขายได้ แต่ก็ไม่มีใครนำสินค้ามาฝากขาย การดำเนินกิจการของศูนย์อุตสาหกรรมบ้านท้องฝายเข้าทำนองเดียวกับกลุ่มที่เปลี่ยนประธานบ่อยและทิ้งร้างเป็นบางช่วง ปีพ.ศ.2554เริ่มเปิดกิจการใหม่อีกครั้งโดยนางชุติมันต์ กรรณิกา เป็นประธานดำเนินงาน ขายสินค้าที่ผลิตเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นสินค้าเครือข่ายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แม่แจ่ม อาจจะเป็นก้าวแรกของศูนย์หัตถกรรมแห่งนี้ที่ทำตามวัตถุประสงค์หลักของผู้ให้ทุนก่อสร้าง

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 06 มี.ค. 2563 11:08