ชาติพันธุ์ : ลัวะ หรือ ละเวือะ

ลวะ ละเวือะ ลัวะ 


(อ่านเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ https://webs.rmutl.ac.th/assets/upload/files/2019/09/Lawa-Cultural-Heritage-of-Mae-Chaem.pdf )


ลัวะ คือใคร?


            เป็นคำถามที่เหมือนจะทราบคำตอบ แต่คำตอบก็ดูจะไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ มีการเรียกที่หลากหลาย ต่างถิ่นต่างเรียกแตกต่างกัน ทั้งที่คนอื่นเรียก และคำที่ใช้เรียกตนเอง แต่ที่แน่ๆ เป็นหนึ่งชาติพันธุ์เก่าแก่ในล้านนา ที่กระจายตัวในภาคเหนือไล่เลยไปจนถึงเชียงตุง สิบสองปันนา และมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายกลุ่ม

            ในเอกสารล้านนา จะเจอคำว่า “ลวะ” โดยเขียนเป็นอักษรล้านนาว่า ลวฯ บางทีในตำนานฝ่ายวัดที่พระสงฆ์ผู้แต่งตำนาน ก็มักจะใช้หลายคำ เช่นคำว่า มิลักขุ มิลักขฯุ  ตามการเรียกชนเผ่าพื้นเมืองของทางอินเดีย หรือใช้คำว่า ทัมมิลละ ทมมฯิลลฯ หรือ ทมิฬ อันเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในอินเดียใต้หรือทางศรีลังกา ตามอิทธิพลของศาสนาที่ได้มาจากทางศรีลังกา

            จาก “ลวะ” จึงกลายเป็นลัวะ ในการกลายเสียง ทำให้ออกเสียงง่าย และเป็นคำที่ใชักันแพร่หลายในปัจจุบัน


             ลวะ เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมของทุกพื้นที่ในเชียงใหม่ ซึ่งเรียกตนเองว่า ละเวือะ หรือ ละเวีย ในเขตอำเภอแม่แจ่ม มีอยู่ 7 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล คือ ตำบลปางหินฝน ได้แก่ บ้านของ, บ้านเฮาะ, บ้านแปะ และบ้านกอกน้อย ส่วนตำบลบ้านทับ ได้แก่ บ้านมืดหลอง, บ้านสบลอง และบ้านแม่แวง (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, 2555: 192)

 

          ความเชื่อของชาวลัวะ มีทั้งแบบโบราณ คือการนับถือผี รวมถึงการนับถือพุทธไปพร้อมกัน และปัจจุบันศาสนาคริสต์ เข้ามามีบทบาทร่วมด้วย แต่การนับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างจะห่างหายไป ด้วยคนที่นับถือคริสต์จะไม่เข้ามาร่วมในพิธีกรรมบางอย่างเช่นการเลี้ยงผี เป็นต้น และยังคงสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ปรากฏในวิถีชีวิตอยู่เสมอมา ดังจะกล่าวต่อไป

          ชาวลัวะ ยังคงสืบทอดงานฝีมือต่างๆ จากบรรพบุรุษมาอย่างเหนียวแน่น เช่น เสื้อผ้าประจำชาติพันธุ์, ถุงย่าม เครื่องประดับสตรีที่ทำจากเงิน, กำไลข้อมือ, กำไลแขน, ต่างหู, ฝักมีดทำทำมาจากเงิน และที่สำคัญคือ มูยา (ฝอยทอง สมวถา,2546, 32)

          นอกจากนี้ซิ่นลัวะ ยังส่งอิทธิพลไปยังคนพื้นเมืองโดยคนพื้นเมืองนำซิ่นลัวะไปนุ่งลำลองอยู่บ้านหรือทำงาน หรือนำลวดลายของชาวลัวะไปทอ โดยมีการปรับความยาวและความกว้างมากกว่าเดิมตามแบบที่ชาวไทยวนนิยมนุ่ง




          ประเพณีในรอบปีของชาวลัวะ

ชาวลัวะมีทั้งกลุ่มนับถือพุทธ-ผี และกลุ่มนับถือคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ ส่วนการนับเดือนก็จะนับทางจันทรคติเช่นเดียวกับชาวไทยวนหรือคนเมือง แต่ลำดับการนับเดือนจะนับช้ากว่าของคนล้านนาไป 1 เดือน ดังนี้ (สัมภาณ์นางกรุ ศักดิ์สืบสกุล, 2560)

เดือน 1 (แคะติ) ประมาณเดือน พฤศจิกายน

เป็นช่วงประเพณีเลี้ยงเจ้าที่ ทั้งที่บ้านและที่ไร่ และถวายทานข้าวใหม่ให้กับปู่ย่าตายาย โดยของที่นำไปเลี้ยงเจ้าที่นั้น ประกอบด้วย หมู ไก่ ผลไม้ แกง เหล้า หมาก พลู เหมี้ยง และยาเส้น

เดือน 2 (แคะละอา) ประมาณเดือนธันวาคม

ไม่มีประเพณีในเดือนนี้

เดือน 3 (แคะอะลัว) ประมาณเดือนมกราคม

เป็นช่วงเริ่มเพาะปลูก ถางไร่ ถางสวน เปิดหน้าดินใหม่

มีการเลี้ยงผีหมู่บ้าน ซึ่งจะต้องออกนอกหมู่บ้านไปประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้หมู 1 ตัว เหล้า 1 ขวด ในการเลี้ยง โดยเก็บเงินจากแต่ละเรือนไปซื้อหมูมาเลี้ยง ส่วนแต่ละเรือนก็จะมีการเตรียมของไหว้ไปกันอีก ประกอบด้วย ไก่แดงหรือขาว 1 ตัว, ปลาน้ำห้วยแม่ตูม (หรือห้วยข้างบ้าน) และไข่ต้ม 1 ฟอง

ของที่ใช้เลี้ยงผีนี้ นำกลับมายังบ้านได้ แต่ไม่เอาเข้าในเขตประตูห้อง และกินได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น

เดือน 4 (แคะเปาน์) ประมาณเดือนกุมภาพันธ์

เป็นช่วงการแผ้วถางไร่ เตรียมพื้นที่เพาะปลูก

เดือน 5 (แคะพ้วน) ประมาณเดือนมีนาคม

เป็นช่วงที่มีการตัดกะหล่ำ หรือเก็บผลผลิตทางการเกษตร

เดือน 6 (แคะเล้ะ) ประมาณเดือนเมษายน

ประมาณกลางเดือน เริ่มเอาข้าวลงดิน

นอกจากนี้ยังมีประเพณีปีใหม่ โดยเริ่มวันที่ 10 หรือ 11 และงานจะมี 2 วัน คือ วันแรกเป็นวันดา จะมีการทำขนม อาหาร เตียมผลไม้ ส่วนวันที่สอง เป็นวันตาน โดยจะนำไปบูชาที่ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ติดหมู่บ้าน ในภาษาลัวะเรียกต้นไม้นี้ว่า ต้นเขาะโอเกะฮ์

เดือน 7 (แคะอาเหละ) ประมาณเดือนพฤษภาคม

เป็นช่วงของการเลี้ยงผีกลางหมู่บ้าน ซึ่งจะหมายเอาต้นเขาะโอเกะฮ์ ต้นใหญ่ที่อยู่กลางหมู่บ้าน ที่โคนต้นจะมีไม้เล็กๆ ที่ทำเป็นรูปมีด รูปขวานมาปักโดยรอบ

การเลี้ยงผีนี้จะกระทำกันในวันอังคารวันใดวันหนึ่งในรอบเดือน จะเก็บเงินซื้อหมูแม่ดำ ขนาดไม่ค่อยใหญ่ (หรือตัวประมาณ 2,000 บาท) และเหล้า 1 ขวด ส่วนแต่ละหลังก็จะเตรียม กรวยดอกไม้ที่มีดอกไม้และข้าวสุกปั้นเล็กๆ 1 คู่ อธิษฐานที่เรือนเสร็จก็ไปนำรวมกับของคืนอื่นยังที่ประกอบพิธี

ผู้ประกอบพิธีเรียกว่า “ไกง์พี” ซึ่งสืบเชื้อสายไกง์พีมาในตระกูล ในการเลี้ยงผีนี้จะคล้ายกับการเข้ากำ โดยจะมีการปิดหมู่บ้านโดยใช้ตาแหลวหลวงเป็นสัญลักษณ์ปัก อยู่ 4 ทิศของหมู่บ้าน คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า หากมีการเข้าออกจะต้องมีการปรับไหม โดยใช้กรวยดอกไม้ 1 คู่, เหล้า 1 ขวด, น้ำส้มป่อย 1 แก้ว, เงิน(จำนวนหนึ่ง...ไม่ได้ระบุตายตัว) นำไปที่บ้านไกง์พีและปะกวด (ผู้ใหญ่บ้าน) จากนั้นก็นำของที่ปรับไหม ไปส่งไว้ที่ต้นไม้ใหญ่กลางหมู่บ้าน

ส่วนตาแหลวหลวงที่ปักไว้สี่ทิศของหมู่บ้าน จะไปปักเวลา 4 ทุ่มของคืนก่อนงาน และถอนเมื่อเวลา บ่ายสองของอีกวันหลังจากประกอบพิธีเสร็จ ซึ่งคนใดปัก คนนั้นจะต้องมาถอนออก

การเลี้ยงผีนี้เป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมพิธี ซึ่งผู้หญิงชาวลัวะจะอาศัยอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น และจะไม่กินของที่ใช้เลี้ยงผี ให้สิทธิเฉพาะผู้ชายกิน ซึ่งจะกินในเขตพิธีเลี้ยงผีเท่านั้น ไม่นำเอากลับมาบ้าน

เดือน 8 (แคะเซอะเดะ) ประมาณเดือนมิถุนายน

เป็นช่วงที่นำข้าวโพดลงดิน และปลูกผักที่เติบโตในฤดูฝน  นอกจากนี้ยังมีประเพณีการเลี้ยงผีเจ้าที่ที่สวน โดยใช้ไก่ 1 คู่ เหล้า 1 ขวด ซึ่งเจ้าของสวนจะเป็นผู้เลี้ยง

เดือน 9 (แคะเซอะแดม) ประมาณเดือนกรกฎาคม

เป็นช่วงไปดูแลข้าวโพดที่ลงไว้ โดยถอนหญ้าในไร่ในแปลงออก

เดือน 10 (แคะก่อ) ประมาณเดือนสิงหาคม

เป็นช่วงที่ดูแลข้าวโพดที่อยู่ในไร่

เดือน 11 (แคะก่อติ) ประมาณเดือนกันยายน

เป็นช่วงที่เก็บพืชผักที่ปลูก ก่อนที่จะเก็บมีการเลี้ยงผีเจ้าที่สวนก่อนที่จะมีการเก็บเกี่ยว โดยเครื่องเลี้ยงผีประกอบด้วย ปลา 1 ตัว, ไข่ต้ม 1 ฟอง, ข้าวจ้าว 1 กำ, ข้าวนึ่ง 1 กำ, ไก่เผือก 1 ตัว, ไก่อื่นๆ อีก 4 ตัว, และเหล้าที่ต้มเอง 1 ขวด ซึ่งการเลี้ยงผีเจ้าที่สวนนี้ จะต้องใช้ช้อนไม้ไผ่ในการตักเลี้ยงทุกอย่าง

นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงผีตระกูล ที่สืบทอดกันมาทางฝ่ายชาย  โดยใช้เสาสะกางอันเอก 12 เล่ม และ หมู 2 ตัว (ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว) ไก่(ที่ไม่ใช่ไก่ดำ) แต่ละหลังคาในตระกูล หลังคาละ 2 ตัว, เหล้าหลังคาละ 1 ขวด, ปลา 2 ตัว, ไข่ต้ม 2 ฟอง

เดือน 12 (แคะก่อละอา) ประมาณเดือนตุลาคม

เป็นช่วงที่เริ่มเกี่ยวข้าว

ประเพณีการแต่งงานของชาวลัวะ

การที่จะแต่งงานกัน จะต้องพิจาณาถึงลำดับศักดิ์ของตระกูลต่างๆ ดังนี้

1.       สะมัง

2.       สะมังก๊ะ

3.       สะมังเตี๊ยะ

4.       โมละเอาะ

5.       ยืงโกะ

6.       ยืงเงี้ยง

7.       ยืงโตะสะโหมะ

ในตระกูลสมัยลำดับที่ 1 – 3 นั้นไม่สามารถแต่งงานระหว่างตระกูลกันได้ จะต้องแต่งข้ามตระกูลในลำดับที่ 4 – 7 เท่านั้น ส่วนในลำดับ 4 – 7 นั้นแต่งงานข้ามตระกูลได้หมด เว้นแต่จะแต่งในตระกูลเดียวกันไม่ได้

การแต่งงานจะแต่งสะใภ้เข้าบ้าน โดยยึดถือตระกูลฝ่ายชายเป็นหลัก เช่น ผู้หญิงเป็นสะมัง แต่งงานกับชายตระกูลโมละเอาะ ก็จะมาเป็นตระกูลโมละเอาะตามฝ่ายชาย เป็นต้น

ช่วงเวลาที่แต่งงานในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน และ ช่วงกันยายน – ตุลาคม โดยก่อนแต่งงาน จะต้องมีการไปสู่ของก่อนพิธีแต่งงาน 1 สัปดาห์

ในพิธีแต่งงาน แบ่งเป็นสองวัน คือ วันแรก จะทำการแต่งงานที่บ้านฝ่ายหญิงก่อน มีการเลี้ยงแขก ดำหัวพ่อแม่ฝ่ายหญิง และจะต้องนอนบ้านสาว 1 คืน  ส่วนวันที่ 2 จะทำพิธีที่บ้านฝ่ายชาย บ่าวสาว พร้อมกับเพื่อนเจ้าสาว จะเดินกันไปยังบ้านเจ้าบ่าว ซึ่งผู้หญิงฝ่ายเจ้าบ่าวจะแต่งด้วยชุดสีดำ

การเลี้ยงผีเรือน

จะเลี้ยง 2 ช่วง คือประมาณวันที่ 1 – 10 มกราคม และช่วงสงกรานต์อีก 1 ช่วง (ภายในเดือนเมษายน) ของใช้ในพิธี แบ่งออกเป็นสองช่วง คือช่วงเช้าและช่วงเย็น

ช่วงเช้าประกอบด้วย หมู 1 ตัว, ไก่ 2 ตัว, เหล้า 1 ขวด, ปลา 1 ตัว, ไข่ 1 ฟอง, ข้าวนึ่ง และข้าวจ้าว

ช่วงเย็นประกอบด้วย ไก่ตัวผู้ 1 ตัว, ไก่ตัวเมีย 1 ตัว, ไข่ 2 ฟอง และ ปลา 2 ตัว 

เพิ่มข้อมูลโดย : a001
แก้ไขเมื่อ : 05 มี.ค. 2564 18:23