ชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยง (กะเหรี่ยงสะกอ) หรือ ปกาเกอะญอ

ปกากญอ หรือ กะเหรี่ยง

          ชาวปกากญอ หรือกะเหรี่ยงในพื้นที่แม่แจ่ม เป็นชาว “สะกอ” ทั้งหมด โดยมีการนับถือผีหรือความเชื่อดั้งเดิม จะเหลืออยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น , นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งทั้งพุทธและผีนี้มีการผสมสานกันได้ และนับถือศาสนาคริสต์  (บวร สุริยะชัยพันธ์, สัมภาษณ์, ๒๕๖๐)

 

          ชาวกะเหรี่ยง หรือที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ยาง” มีความสัมพันธ์กับชาวแม่แจ่มมานาน ดังปรากฏในตำนานของวัดต่างๆ เช่น วัดยางหลวง กล่าวว่า ผู้สร้างวัดคือยางหรือกะเหรี่ยงที่มีรูปร่างตัวใหญ่โต สามารถแบกเสาวิหารได้คนเดียว หรือ ตำนานวัดกองกาน ที่ชาวกะเหรี่ยง ร่วมกับชาวลัวะ ชาวไทยวน หาบของสักการะมาบูชาพระเจ้าตนหลวง จนเอาไม้คาน หรือไม้กาน มากองรวมกันเป็นกองใหญ่ จนได้ชื่อวัดกองกาน เป็นต้น


          สิ่งที่ระบุได้ชัดเจนชองชาวกะเหรี่ยงนั่นคือ ภาษา และการแต่งกาย ชาวกะเหรี่ยงทั้งชายและหญิงจะนิยมนุ่งผ้าตามชาติพันธุ์ โดยเฉพาะสตรี หากว่าเป็นสาวก็จะนุ่งผ้าสีขาวที่เรียกว่า “เชวา” หากสตรีที่แต่งงานแล้ว จะนุ่งชุดสองท่อน สีดำแดง เรียกว่า “เซโม่ซู” (ฝอยทอง สมวถา,2546, 29) ส่วนผู้ชายมักจะสวมเสื้อกะเหรี่ยงทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่


          ประเพณีในรอบปีของชาวปกากญอ (กะเหรี่ยง)

          ชาวปกากญอ (กะเหรี่ยง) ในอำเภอแม่แจ่มจะเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มสะกอทั้งหมด จะมีทั้งการนับถือผี พุทธ และคริสต์ (ทั้งคาทอลิก และโปรแตสแตนต์) ความเชื่อเรื่องผีเหลืออยู่ประมาณ ร้อยละ 10 ของหมู่บ้าน แต่จะไม่นิยมดึงเอาวัฒนธรรมทางพุทธ หรือคริสต์เข้ามาผสม ซึ่งผีที่นับถือจะมี ผีเรือน ผีเจ้าที่ ผีไร่ เป็นต้น แต่คนที่นับถือพุทธ ก็จะมีการผสมผสานความเชื่อเรื่องผีเข้าได้อยู่ในบางส่วน โดยในที่นี้จะเล่าถึงประเพณีในรอบปี โดยใช้ปฏิทินสากลเป็นหลัก ซึ่งจะเกี่ยวพันทั้งความเชื่อและวิถีชีวิตการเกษตรในรอบปี ส่วนที่นับถือศาสนาพุทธ ก็จะปฏิบัติทางศาสนาเช่นเดียวกับคนไทยวน เช่นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และ ดังนี้ (สัมภาษณ์ บวร สุริยะชัยพันธ์, 2560)

          เดือนมกราคม

          เป็นประเพณีปีใหม่ โดยคนที่นับถือศาสนาคริสต์จะมีการเฉลิมฉลองปีใหม่เช่นเดียวกับคนทั่วทั้งโลก ส่วนคนที่นับถือพุทธและผี จะมีการพิธีผูกข้อมือรับขวัญ

         

เดือนกุมภาพันธ์

          จะเป็นช่วงถางไร่ โดยการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยง จะมีการหมุนเวียนไปในแต่ละส่วน โดยที่เดิมที่เคยทำจะมีการปล่อยให้ป่าฟื้นตัวก่อนระยะหนึ่งถึงจะเวียนมาถางเป็นไร่อีกครั้งหนึ่ง เป็นภูมิปัญญาในการักษาพื้นที่การเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินไว้ได้

          หากคนที่นับถือผี ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เลี้ยงผีไร่ โดยใช้ไก่ดำ 1 คู่ เหล้าต้มเอง 1 ขวด

          เดือนมีนาคม

          เป็นช่วงที่มีการเตรียมไถหรือเปิดหน้าดินใหม่ มีการมัดมืดในช่วงนี้

          เดือนเมษายน – พฤษภาคม

          ประเพณีสงกรานต์ ปฏิบัติในกลุ่มคนที่นับถือพุทธ

เป็นช่วงที่ลงมือปลูกพืชผักต่างๆ เช่น ข้าวไร่, งา, แตง หรือธัญพืชที่นำมาเป็นอาหารได้ หากเป็นคนที่นับถือผีก็จะมีการมัดมืดเรียกขวัญในช่วงนี้ด้วย

          เดือนมิถุนายน – กันยายน

          เป็นช่วงที่ว่างจากงานในไร่ ชาวบ้านก็ต่างทำงานในบ้าน ผู้หญิงก็ทอผ้าเป็นต้น หรือตรวจตราดูแลพืชไร่ไปจนกว่าจะทำการเก็บเกี่ยวได้

          เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน

          เป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะมีพิธีมัดมือพร้อมกัน ส่วนคนที่นับถือผี ก็จะมีการเลี้ยงผีไร่ โดยใช้ไก่ดำ 1 - 2 คู่ และเหล้า 1 ขวด จะเป็นเหล้าที่ทำการต้มเอง หากเป็นเหล้าที่ซื้อมาจะไม่นิยมนำมาเลี้ยงผี โดยสร้างหอเล็กๆ ไว้ในไร่ จะมีการเชิญแขกมาร่วมด้วย

          เดือนธันวาคม

          จะเป็นช่วงที่เลี้ยงผีใหญ่ประจำปี โดยจะทำที่ในหมู่บ้าน จะมีการต้มเหล้า และล้มหมู บางครอบครัวก็จะเอาไก่มาเลี้ยงแล้วแต่กำลังทรัพย์ของแต่ละคน หากสัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงผีไม่ได้เตรียมไว้ ก็จะไปซื้อไก่ ซื้อหมูจากต่างหมู่บ้าน

เป็นเดือนที่มีการเลี้ยงขอบคุณพระเจ้าสำหรับชาวคริสต์ และประเพณีคริสต์มาส เช่นเดียวกับชาวคริสต์ทั่วโลก 

เพิ่มข้อมูลโดย : a001
แก้ไขเมื่อ : 05 มี.ค. 2564 18:25