กู่สี่มุมเมือง : กู่ดอยใต้

กู่สี่มุมเมือง

ที่ตั้ง : ทิศตะวันออก กู่ดอยฮวก พิกัด : 18.49654, 98.37519

ทิศตะวันตก กู่ดอยดินดัง พิกัด : 18.49886, 98.34568

ทิศเหนือ กู่ดอยสะกาน พิกัด : 18.518608, 98.360482

ทิศใต้ กู่ดอยใต้ พิกัด : 18.473745, 98.362154

ตามประวัติวัดช่างเคิ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศา 8 เส้นให้แก่พ่อค้า2 คน เพื่อนำไปบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์หรือพระธาตุ แล้วตรัสว่า อุปกรณ์ที่รองรับพระเกศา 4 อย่างได้แก่ ไม้คาน หม้อ ผ้าขาว  ไม้รวกทำเป็นผอบ ให้นำไปก่อสร้างเป็นสถูปไว้ทั้ง 4 ทิศ เพื่อเป็นบริวารของพระเจดีย์หรือพระธาตุ พ่อค้าทั้ง 2 คนได้นำไปมอบให้กับผู้นำหมู่บ้านเพื่อก่อสร้างพระสถูป ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้

ทิศตะวันออก (H04-1) นำผอบไม้รวกไปบรรจุไว้ในกู่ที่สร้าง เรียกว่า “กู่ดอยฮวก” ต่อมาได้มีพระครูมหามงคล ซึ่งขณะนั้นบวชอยู่ที่วัดช่างเคิ่ง ได้นำคณะศรัทธากลุ่มหนึ่งไปสร้างวัดอยู่ที่กู่ดอยฮวก โดยแยกไปจากวัดช่างเคิ่ง อยู่ได้ไม่นานไฟป่าไหม้วัดดอยฮวก จึงย้ายไปสร้างวัดใหม่(วัดบุปผาราม) วัดดอยฮวกจึงถูกทิ้งร้างจนถึงปัจจุบัน

ทิศตะวันตก (H04-2) นำผ้าขาวไปบรรจุไว้ในกู่ที่สร้างเรียกว่า “กู่ดอยดินดัง” อยู่ทางทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำ ใกล้กับลำน้ำแม่คา ชาวบ้านที่มีที่นาอยู่ตอนล่างของอ่างจึงทำพิธีรดน้ำที่กู่ตอนมีงานสงกรานต์ วันที่ 15 หรือ 16 เมษายน ก่อนจะไปรดน้ำได้นิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ธรรม 1 ผูก ทำต่อเนื่องทุกปีและชาวบ้านได้ช่วยกันอนุรักษ์ดูแลกู่ไว้ถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2556)

ทิศเหนือ (H04-3) นำไม้คานไปบรรจุไว้ในกู่ที่สร้างขึ้น เรียกว่า “กู่ดอยสะกาน” ระยะแรกไม่มีผู้อยู่ประจำ ถูกทิ้งร้างไว้จนถึงประมาณ พ.ศ. 2450 ตุ๊เจ้าปัญญาซึ่งเป็นพระอยู่ที่วัดต่อเรือพร้อมด้วยพระสงฆ์สามเณรและศรัทธาวัดต่อเรือได้สร้างพระธาตุขึ้นใหม่ในที่กู่เดิมซึ่งผุพัง ตามแบบพระธาตุวัดช่างเคิ่ง เมื่อสร้างเสร็จตุ๊เจ้าปัญญาได้อยู่จำพรรษา 2 ปี และลาสิกขาไปในปี พ.ศ.2453 กู่ดอยสะกานจึงถูกทิ้งร้างไว้อีกครั้ง ได้มีคนร้ายเข้าเจาะพระธาตุด้านทิศเหนือและทิศใต้ขโมยแก้วยอดฉัตรและใบพัดไป ทางคณะสงฆ์และทางราชการได้ประชุมร่วมกันตกลงจะต้องหาพระสงฆ์มาอยู่ประจำ จึงได้ไปนิมนต์หลวงพ่ออุ่นใจ และหลวงพ่อนวลตา นาถปญฺโญ (อดีตนายนวลตา ปิงกุล) จากวัดร่ำเปิง เมืองเชียงใหม่ หลวงพ่อพระธรรมมังคลาจารย์ (เจ้าอาวาสวัดร่ำเปิงในขณะนั้น) ได้อนุญาตให้พระสงฆ์ทั้ง 2 รูป มาอยู่ประจำที่วัดดอยสะกานตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2535

หลวงพ่ออุ่นใจและหลวงพ่อนวลตาได้บูรณปฏิสังขรณ์กุฏิ 4 หลัง ห้องน้ำ แท็งก์น้ำห้องครัว และได้หาทุนบูรณะพระธาตุขึ้นใหม่ ต่อมาหลวงพ่ออุ่นใจอายุมากลูกหลานจึงได้นิมนต์ให้ลงมาอยู่วัดกู่เพื่อดูแลสุขภาพ  คงเหลือหลวงพ่อนวลตาอยู่เพียงรูปเดียว ท่านได้สร้างถาวรวัตถุไว้หลายหลัง เช่น วิหาร 2 หลัง ศาลาปฏิบัติธรรม 2 ชั้น  1 หลัง สร้างพระนอน ปรับภูมิทัศน์รอบๆวัด ปัจจุบันวัดดอยสะกานได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็น “วัด” มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอดไป

ทิศใต้ (H04-4) นำหม้อที่ใส่ผอบไปบรรจุไว้ในกู่ที่สร้างเรียกว่า “กู่ดอยใต้” และกู่ถูกทิ้งร้างเช่นเดียวกับกู่ทั้ง 3 จนกระทั่งครูบาเตจ๊ะ เจ้าอาวาสวัดป่าแดดได้มาบูรณะกู่ให้ใหญ่ขึ้นเรียกใหม่ว่า พระธาตุดอยกู่ใต้ และได้สร้างโบสถ์หลังเล็ก 1 หลัง ครูบาเตจ๊ะได้ชักชวนให้ชาวบ้านไปปฏิบัติธรรม และท่านได้อยู่ประจำที่วัดพระธาตุ-ดอยกู่ใต้จนมรณภาพ (แม่อุ๊ยเหลียว นะที แม่ของพ่อใจ๋ นะทีเล่าให้พ่อใจ๋ฟังตั้งแต่พ่อใจ๋ยังเด็ก)

วัดพระธาตุดอยกู่ใต้ถูกทิ้งร้างไว้อีกครั้ง จนกระทั่งพระอาจารย์ดวงดี ณ วัณ จากวัดยางหลวงได้ย้ายมาอยู่วัดบ้านทัพ ชาวบ้านไร่กลุ่มหนึ่ง นำโดยพ่ออุ๊ยซาว ริยะนา พ่ออุ๊ยแก้ว จันต๊ะมัง พ่อใจ๋ นะที พ่อดวงคำ สาคะรินทร์และพ่อจม ปิงกุล ได้ช่วยกันสร้างกุฏิเล็กๆ 1 หลัง และสร้างศาลาอีก 1 หลัง แล้วนิมนต์พระอาจารย์ดวงดีไปอยู่ประจำที่วัดพระธาตุดอยกู่ใต้

เมื่อพระอาจารย์ดวงดีได้ไปอยู่ประจำ ก็ได้ชักชวนให้ชาวบ้านไปปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฎฐาน 4 ตามที่พระอาจารย์ได้เรียนมาจากวัดร่ำเปิง เชียงใหม่ และจากพระอาจารย์ทอง สิริมังคโล (พระธรรมมังคลาจารย์ วัดพระธาตุจอมทอง) ได้สร้างกุฏิหลังเล็กๆหลายหลังให้ญาติโยมไปอยู่ปฏิบัติธรรม และได้ปรารภอยากได้พระพุทธรูป พ่อกอนแก้ว อินต๊ะก๋อนจึงได้ปั้นพระพุทธรูป โดยมีนายนวลตา ปิงกุลเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูป  ค่าจ้างพ่อกอนแก้ว จำนวน 3,700 บาท วิธีปั้นใช้ไม้สักขนาดใหญ่ใส่ไว้ข้างในเอาของดีหลายอย่างรวมทั้งหัวใจที่ซื้อมาจากร้านเงินดี เชียงใหม่ ตอกตะปูรอบๆ เอาของทุกอย่างแขวนแล้วจึงลงมือปั้น มีชาวบ้านช่วยกันหาบทราย หิน ปูนให้ ปั้นแล้วเสร็จปรากฏว่า พระพุทธรูปสูงกว่าหลังคาศาลา นายนวลตาและชาวบ้านกลุ่มเดิม จึงช่วยกันรื้อหลังคา แล้วสร้างเป็นวิหารหลังปัจจุบัน

การบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในบริเวณวัดเกิดขึ้นในสมัยของพระอาจารย์ดวงดีทั้งสิ้น โดยมีนายนวลตา ปิงกุล เป็นโยมอุปัฏฐาก นายนวลตายังได้สร้างแท่นรอบพระธาตุทำเป็นช่อง 13 ช่องเพื่อบรรจุเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ต่อมาสามเณรอนันท์ได้ขึ้นไปอยู่และได้ปิดช่อง 13 ช่องติดแก้ว (กระจก) รอบทั้งหมด นายนวลตาจึงไม่ขึ้นไปอีก พอดีกับพระอาจารย์ดวงดีอาพาธหนักและมรณภาพ นายนวลตาและคณะศรัทธาได้นำเหรียญที่พระอาจารย์ดวงดีและนายนวลตาเคยไปสร้างไว้ที่วัดดวงดีเชียงใหม่มาให้ชาวบ้านบูชา 3 เหรียญ 99 บาท ได้เงินแปดหมื่นกว่าบาท เมื่อเสร็จสิ้นงานฌาปนกิจศพแล้วจึงนำเงินที่เหลือจัดตั้งเป็นมูลนิธิแม่แจ่ม ปัจจุบันคือมูลนิธิพัฒนาแม่แจ่ม  มีนายอำเภอแม่แจ่มเป็นประธาน คนแม่แจ่มยกย่องอาจารย์ดวงดีเป็น “ต๋นบุญเมืองแจ๋ม”

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 08 ธ.ค. 2563 22:01