วัดกองแขกเหนือ

วัดกองแขกเหนือ

ที่ตั้ง : 78 ม.9 บ้านกองแขกเหนือ ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม

สิ่งสำคัญภายในวัด: พระตีโต้ พระประธานภายในวิหาร จิตรกรรมบนแผงไม้คอสองภายในวิหาร

วัดกองแขกเหนือเป็นวัดที่ตั้งอยู่บ้านกองแขกซึ่งเป็นชุมชนอยู่ห่างจากศูนย์กลางเมืองแม่แจ่มประมาณ 10 กม.เป็นวัดเก่าแก่ไม่ทราบปีที่สร้างชัดเจน ทราบแต่ว่าอายุกว่า 200 ปี มีวิหารเป็นศูนย์กลาง พระประธานภายในวิหารเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐฉาบปูนปางมารวิชัย มีช่างชาวเงี้ยว(ไตใหญ่)เป็นผู้สร้าง มีชื่อว่า “พระตีโต้” มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน เล่ากันว่าบางครั้งท่านจะแสดงปาฏิหาริย์เปล่งแสงส่องสว่างทั่วห้องและมีธรรมาสน์เก่าแก่ที่จารึกด้วยภาษาม่าน(พม่า)

ตัววิหารมีรูปแบบเรียบง่าย เป็นผลงานการออกแบบและก่อสร้างของช่างพื้นบ้านที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน เป็นวิหารปิดขนาดเล็ก เครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินขอพื้นเมือง ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่ยกเก็จ หลังคาสองตับ สองชั้น ลดชั้นเฉพาะด้านหน้าตรงระเบียงมุขหน้า ระนาบหลังคาตรงไม่อ่อนโค้งตามแบบล้านนาทั่วไป การประดับตกแต่งเครื่องลำยองเป็นแบบผสมที่มีอิทธิพลภาคกลาง ทั้งหางหงส์และใบระกา แต่ก็มีรูปแบบเฉพาะที่ดัดแปลงมาจากแบบภาคกลางแล้ว

การประดับตกแต่งตัววิหารเป็นไปอย่างเรียบง่าย คือประดับลวดลายเฉพาะด้านมุขหน้าการตกแต่งภายในใช้แผ่นไม้แกะสลักบริเวณหน้าแหนบ (หน้าบัน) คอกีด (แผงแรคอสอง) และหน้าบันปีกนก ภายในใช้การเขียนสีเป็นลวดลายบริเวณคอสอง เสาและผนังด้านหลังพระประธาน แท่นแก้วใช้การประดับด้วยกระจก

ภาพเขียนสีบนแผงไม้คอสองภายในวิหารนี้ เป็นภาพที่มีชื่อเสียง ด้วยลักษณะที่โดดเด่น จิตรกรใช้สีขาวตวัดเส้นสายพลิ้วไปมาบนพื้นไม้ จนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2546

บันไดหลักทางขึ้นด้านหน้าตัววิหารมีรูปแบบการตกแต่งราวบันไดที่มีใช้เฉพาะเมืองแม่แจ่มซึ่งไม่พบในที่อื่นๆ รูปแบบไม่คล้ายหางวันซึ่งเป็นรูปแบบของล้านนา หรือบันไดนาคตามแบบภาคกลาง นอกจากวัดกองแขกเหนือ แล้ว ยังพบรูปแบบการตกแต่งราวบันไดนี้อีกที่อุโบสถวัดยางหลวงและวัดพระบาท ในอดีตราวบันไดแบบนี้เป็นแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในวัดของเมืองแม่แจ่ม ก่อนจะถูกเปลี่ยนแปลงไปจนเหลือไม่กี่แห่งในปัจจุบัน

หน้าต่างหรือช่องเปิดของวิหาร ยังคงเป็นแบบพื้นเมืองหรือแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น พระอาวุโสของวัดพุทธเอ้นเล่าว่า ช่องเปิดเดิมของวิหารวัดพุทธเอ้นก็เป็นลักษณะเดียวกันนี้หรือคล้ายกันก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นแบบกรุงเทพฯ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2532

อาคารเสนาสนะ : วิหารไม้แบบพื้นเมือง ศาลาการเปรียญ ศาลาบาตร กุฏิสงฆ์

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 08 ธ.ค. 2563 20:38