วัดยางหลวง

วัดยางหลวง

ที่ตั้ง : 102 ม.6 บ้านยางหลวง ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม

จุดเด่น/สิ่งสำคัญภายในวัด: อุโบสถ ปราสาทภายในอุโบสถ เรียกว่า กิจกูฎ (สร้างเป็นตัวแทนของเขาคิชกูฏ)

วัดยางหลวงเป็นวัดเก่าแก่ที่ใช้ชื่อตามชื่อผู้สร้างคือ “ยางหลวง” หรือชาวกะเหรี่ยง(คนล้านนาเรียกยาง)ที่ชื่อ  “หลวง” สร้างเมื่อพ.ศ. 2026 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพ.ศ.2038 เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของเมืองแจ่ม เพราะได้รับการส่งเสริมประชาสัมพันธ์จากงานจุลกฐินประจำปี ที่อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือได้ริเริ่มดำเนินการ โดยใช้วัดยางหลวงเป็นจุดเริ่มต้นของงานพิธี และการได้รับการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถ การได้รับการสร้างวิหารหลังใหม่ถวายเมื่อพ.ศ.2545ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาที่สวยงาม ตลอดจนการจัดสร้างพระพุทธรูปไม้องค์ใหญ่เป็นพระประธานของวิหารหลังนี้

อุโบสถวัดยางหลวงถูกกำหนดให้เป็นอาคารประธาน โดยตั้งอยู่ในแกนประธาน ตรงซุ้มประตูวัด ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ศิลปะล้านนา เครื่องไม้ ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบยกเก็จ หลังคาสองตับ สองชั้น และลดชั้นเฉพาะด้านหน้าตรงระเบียงมุข ด้านหลังเป็นหลังคาชั้นเดียว การยกเก็จผังพื้นทำเฉพาะด้านหน้าสัมพันธ์กับการลดชั้นหลังคา ซึ่งลักษณะนี้เป็นรูปแบบเดียวกับวิหารวัดกองแขกเหนือ ต่างกันที่ระนาบหลังคาของอุโบสถวัดยางหลวงหลังนี้อ่อนโค้งตกท้องช้าง ต่างจากวัดกองแขกเหนือซึ่งระนาบหลังคาตรง

ราสาทหรือกิจกูฏตั้งอยู่ภายในวิหารตรงบริเวณที่ประดิษฐานพระประธาน เป็นปราสาทก่ออิฐฉาบปูน ตกแต่งลวดลายปูนปั้น ศิลปะล้านนาพื้นเมืองแม่แจ่มที่ได้รับอิทธิพลพุกามผสมผสานกับเชียงแสน รูปแบบการสร้างปราสาทหลังนี้เป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบที่อื่น เพราะลักษณะการสร้างกู่หรือปราสาทในอาคารอุโบสถหรือวิหารนี้ มีปรากฏในวัฒนธรรมล้านนาหลายแห่ง แต่มีรูปแบบที่แตกต่างจากที่นี่ โดยทั่วไปรูปแบบการทำปราสาทในวิหาร มีอยู่ 2 ลักษณะคือปราสาทพระประธานในวิหารโถง คือหากสร้างเป็นวิหารโถงหรือวิหารที่ไม่มีผนัง ก็มักจะสร้างปราสาทสำหรับประดิษฐานพระประธาน เช่น วิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง อีกลักษณะหนึ่งคือสร้างเป็นวิหารปิดหรือวิหารมีผนัง ก็จะสร้างปราสาทไว้ด้านนอก ตั้งอยู่ชิดกับด้านหลังอาคาร มีช่องทางต่อกับภายในวิหาร พระประธานจะประดิษฐานอยู่ในปราสาทบ้าง อยู่ในวิหารด้านหน้าปราสาทบ้าง เช่นวิหารลายคำวัดพระสิงห์ วิหารที่วัดปราสาท ลักษณะการสร้างปราสาทไว้ภายในตัวอาคารปิดแบบอุโบสถวัดยางหลวงนี้จึงเป็นลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนวิหารแบบมีปราสาทของล้านนาทั่วไป

งานปูนปั้นปราสาทพระเจ้านี้มีชื่อเสียงด้านความงดงามมากมีรูปสัตว์หิมพานต์แบบต่างๆ ทำเป็นแบบนูนต่ำ นูนสูง และลอยตัวทั้งรูปนก นาค กินนรกินนรีและสิงห์ผยอง ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะพุกามลังกาและล้านนาเข้าด้วยกันโดยเฉพาะรูปสิงห์ผยองยืนกางเล็บเป็นศิลปะแบบลังกาที่หายากและไม่พบในที่อื่นๆ ปราสาทหรือกิจกูฏนี้เป็นสิ่งสำคัญตามความเชื่อของชาวเมืองแจ่มที่เชื่อกันว่าเป็นประตูสู่สวรรค์

ลักษณะระเบียงมุขหน้าของอุโบสถเป็นระเบียงโถง ไม่ก่อผนัง ปัจจุบันมีการติดตั้งซี่ลูกกรงไม้ใช้เป็นทางเข้าหลักของอุโบสถและมีทางเข้ารองอยู่ด้านข้างทางทิศเหนือ บันไดทางขึ้นสู่ทางเข้าทั้งสองแห่งตกแต่งราวบันไดเป็นแบบเดียวกันซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับราวบันไดที่วิหารวัดกองแขกเหนือ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเมืองแม่แจ่ม

อาคารเสนาสนะ : อุโบสถแบบพื้นเมือง วิหารหลังใหม่พร้อมพระประธานขนาดใหญ่ทำด้วยไม้

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 08 ธ.ค. 2563 11:40