วัดป่าแดด

วัดป่าแดด

ที่ตั้ง: 99 หมู่ 4 บ้านยางหลวง ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม

จุดเด่น/สิ่งสำคัญภายในวัด: วิหารล้านนา จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร หอไตร

วัดป่าแดดเดิมชื่อวัดใหม่เมืองแม่แจ่มหรือวัดเหนือ ซึ่งคู่กับวัดใต้คือ วัดยางหลวงพระยาเขื่อนแก้ว เจ้าเมืองแม่แจ่มซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2400 ก่อสร้างวิหารแล้วเสร็จและฉลองเมื่อ พ.ศ. 2428 หอไตรสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2450 และอุโบสถหลังใหม่ของวัดถูกสร้างขึ้นนอกกำแพงวัดเมื่อ พ.ศ. 2543 วัดป่าแดดเป็นวัดที่มีชื่อเสียงของเมืองแม่แจ่มวัดหนึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะได้รับการส่งเสริมประชาสัมพันธ์จากงานจุลกฐินประจำปีที่อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ได้ริเริ่มดำเนินการโดยใช้วัดเป็นส่วนหนึ่งของงานพิธี ตลอดจนมีงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีคุณค่าและยังมีสภาพดี อาคารวิหารป่าแดดได้รับการบูรณะและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว

วิหารวัดป่าแดดเป็นวิหารแบบล้านนาที่มีรายละเอียดของผังและหลังคาที่แตกต่างออกไป คือลักษณะเป็นอาคารที่มีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบยกเก็จ คือมีการลดขนาดความกว้างของช่วงเสา หลังคาสองตับสามชั้น ไม่มีมุขหน้าเป็นระเบียงโถงและไม่มีมุขหลัง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนาที่ต่างจากแบบภาคกลาง

จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดดเป็นศิลปะที่มีชื่อเสียงมากในเมืองแจ่มส อายุประมาณ 150 ปี เขียนโดยช่างแต้มชาวไตใหญ่ (ประเด็นนี้ยังเป็นที่สงสัย เพราะอักษรที่จารึกใต้ภาพเป็นอักษรล้านนาไม่ใช่อักษรไตใหญ่) ยังมีสภาพค่อนข้างดีเป็นภาพพุทธประวัติ เวสสันดรชาดก วิฑูรบัณฑิต นิทานพื้นบ้านจันทคาธฯ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวแม่แจ่มเมื่อ 100 ปีก่อน ทั้งในด้านการประกอบอาชีพกสิกรรมและการแต่งกาย รวมทั้งเป็นภาพเรื่องราวของพุทธประวัติและชาดกต่างๆ มีทั้งหมด 8 ภาพ

อาคารเสนาสนะ: วิหาร หอไตร อุโบสถกลางน้ำ โรงเรียนปริยัติธรรม

Wat Pa Dad is a famous temple of Mae Chaem. It houses various significant things namely viharn which houses high valued 150 years old mural. The mural depicts Vetsandon Jataka, Vithoon Bundit, Local tales Chantakat, and other picture that mirrors local lifestyle at the time of painting. Other important building is the local style building for keeping Pitaka.

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 08 ธ.ค. 2563 10:45