วัดบุปผาราม

วัดบุปผาราม 

ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 10 หมู่ที่ 12 ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีวิหารทรงสมัยใหม่  พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ และมีพิพิธภัณฑ์แสดงวิถีความเป็นอยู่ของชาวแม่แจ่มสมัยดั้งเดิม

ประวัติวัดบุปผาราม

  เดิมทีบ้านช่างเคิ่งบน หมู่ที่ 12 ตำบลช่างเคิ่งไม่มีวัดในหมู่บ้าน ดังนั้นชาวบ้านจึงทำบุญที่วัดหลวงช่างเคิ่งร่วมกับราษฎร บ้านเกาะ หมู่ที่ 4 ตำบลช่างเคิ่งมาโดยตลอด ต่อมาประมาณปี  พ.ศ. 2464 พระภิกษุสุดใจ สุมังโล ซึ่งเป็นพระลูกวัดหลวงช่างเคิ่งได้เล็งเห็นวัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ  “วัดกู่ดอยฮวก” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านช่างเคิ่งบน เป็นสถานที่สงบเงียบเหมาะแก่การสงบจิตสงบใจ จึงตั้งใจมาอยู่ ณ วัดดอกฮวกแห่งนี้ ในตอนนั้นได้มีศรัทธาชาวบ้านช่างเคิ่งบน ส่วนหนึ่ง ที่ให้ความเคารพเลื่อมใสในพระภิกษุสุดใจ สุมังคโล ซึ่งมีพ่ออุ้ย 3 ท่านเป็นหัวหน้าคณะศรัทธา คือ พ่ออุ้ยปุก วรรณคำ, พ่ออุ้ยใจ๋ รู้เที่ยง(คุณตาของท่านพระครูมงคลวิสิฐ)และพ่ออุ้ยอินทร์ วรรณคำ ท่านทั้งสามได้มาช่วยกันบูรณะวัด ก่อสร้างกุฏิ  วิหาร ศาลา และอัญเชิญพระประธานประดิษฐานเพื่อกราบไหว้บูชา และเป็นผู้ถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสามเณร สำหรับกลางคืนก็ไปนอนค้างที่วัดเนื่องจากวัดอยู่กลางป่าห่างจากหมู่บ้าน  ต่อมาประมาณ 4 ปี ได้เกิดไฟป่าลุกลามไหม้วัด ไม่สามารถคุมเพลิงไว้ได้เพราะขาดแคลนน้ำ  และไม่สามารถบูรณะซ่อมแซมได้ จึงปรึกษาหารือกันว่า หาทำเลที่ทำก่อสร้างวัดแห่งใหม่ที่อยู่ศูนย์กลางหมู่บ้าน ดังนั้นจึงได้ริเริ่มสร้างวัดใหม่ ในปี พ.ศ. 2469 พระสุดใจ สุมังคโลร่วมกับขุนช่าญช่างเคิ่ง(ไฝ กาพย์ไชย)กำนันตำบลช่างเคิ่งเป็นประธาน พร้อมกับชาวบ้านช่างเคิ่งบน ประมาณ 20 ครัวเรือน โดยมี พ่ออุ๊ยทั้งสามเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างวัดแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังศรัทธาส่วนใหญ่ใช้แรงงานช่วยกันจนเต็มความสามารถจนแล้วเสร็จ จึงตั้งชื่อว่า “วัดบุปผาราม” หมายถึง “เป็นอารามที่สวยงามและน่าชื่นชม ประดุจดอกไม้” โดยมีพระสุดใจ สุมังคโล เป็นเจ้าอาวาสต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวง(อำเภอ)ช่างเคิ่งและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญบัตรในราชทินนนาม “พระครูมหามงคล” จากเหตุการณ์ไฟไหม้วัดดอยฮวกสิ่งที่รอดจากเปลวเพลิงในครั้งนั้นได้แก่ กลองหลวง และพระประธาน ท่านจึงได้นำกลองหลวงและอัญเชิญพระประทานไปประดิษฐาน ยังวัดบุปผาราม เนื่องด้วยพระครูมหามงคลมีการปฏิบัติที่ดีงามน่าเลื่อมใสศรัทธาจึงทำให้การพัฒนาวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นศูนย์กลางการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์อำเภอแม่แจ่ม   มีพระภิกษุสามเณรจากวัดต่าง ๆ เข้ามาอยู่อาศัยเพื่อศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก ครั้นถึง วันที่  3 กุมภาพันธ์ 2493 ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมาจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและทางวัดได้สร้างอุโบสถผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2509 กรมการศาสนาได้ยกฐานะเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พศ. 2530 และในปี พ.ศ. 2539  ได้รับประกาศเกียรติคุณดีเด่นด้านการพัฒนา   เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติ ครบ 50 ปี และเนื่องในโอกาสเมืองเชียงใหม่ ครบ 700 ปี จากนั้นก็ได้พัฒนาวัดเรื่อยมาโดยเจ้าอาวาส รูปที่ 2 จนถึงรูปปัจจุบัน มีการก่อสร้างก่อสร้างพระวิหาร แบบทรงไทยสมัยใหม่ ซึ่งแตกต่างจากวัดในอำเภอ  แม่แจ่ม มีภาพวาดฝาผนังที่แสดงถึงวิถีชีวิตและประเพณีโบราณของคนแม่แจ่มและบางประเพณีไม่ได้ถือปฏิบัติแล้วในปัจจุบัน แต่ยังดีที่ได้จารึกไว้ในฝาผนังพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุสร้างขึ้นใหม่เมื่อ ปี พ.ศ. 2536 และในปี พ.ศ. 2544 ได้ก่อสร้างพระวิหารเล็ก ประดิษฐานรูปเหมือนของครูบาศรีวิชัยและรูปเหมือนพระครูมหามงคล

ประเพณีสำคัญ : งานบุญแปดเป็ง (วันเพ็ญเดือนแปดเหนือ)
อาคารเสนาสนะ : พระธาตุเจดีย์ วิหาร โบสถ์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 08 ธ.ค. 2563 10:30