บ้านแม่ซา

    บ้านแม่ซา หมู่บ้านกะเหรี่ยงทางตอนเหนือของแม่แจ่ม

    บ้านแม่ซาเป็นหมู่บ้านขนาด 220 หลังคาเรือน (พ.ศ.2560) ตั้งอยู่ในเขตตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่มไปทางทิศเหนือประมาณ 53 กม. เส้นทางปัจจุบันเป็นทางราดยางทั้งหมดแล้ว อายุการตั้งหมู่บ้านมากกว่าร้อยปี ประชากรประมาณเจ็ดร้อยกว่าคน เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอทั้งหมด และยังคงใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสารกันเอง ตั้งแต่เด็กเล็กๆจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ คู่กับภาษาไทยและคำเมืองในการสื่อสารกับคนภายนอก ศาสนาปัจจุบันนับถือคริสต์ศาสนา นิกายโปรแตสแตนต์ มีโบสถ์ประจำหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่มิชชั่นนารีมาสร้างโรงเรียนประจำหมู่บ้านให้เป็นแห่งแรกในแถบนี้ และรับนักเรียนในหมู่บ้านและจากหมู่บ้านรอบๆมาเรียนด้วย โดยมีท่านมิชชั่นนารี ดิ๊กเกอสัน เป็นผู้มาบุกเบิกก่อตั้งและทำการสอน


บ้านแม่ซา หมู่บ้านกะเหรี่ยงทางตอนเหนือของแม่แจ่ม

บ้านแม่ซาและผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายที่ร้านค้าในชุมชน


สภาพทั่วไปบ้านแม่ชา

    อาชีพดั้งเดิมคือการปลูกข้าว และหันมาปลูกข้าวโพดเมื่อประมาณยี่สิบปีที่แล้ว จากการส่งเสริมจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยไม่ได้ความรู้เรื่องการรักษาดินรักษาสภาพแวดล้อมใดๆ จนสร้างปัญหาด้านสภาพแวดล้อมให้กับแม่แจ่มในปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2559-60 ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมรณรงค์ตามโครงการแม่แจ่มโมเดลในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆของแม่แจ่ม ให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดซึ่งมีการบุกรุกทำลายป่าและสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไปปลูกพืชอื่นทดแทน แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการเพียงบางส่วน

    นอกจากการปลูกข้าวทำการเกษตรแล้ว ชาวบ้านบ้านแม่ซายังมีอาชีพด้านการทอผ้า ซึ่งแต่เดิมเป็นการทอเพื่อใช้งาน เป็นการทอด้วยกี่เอว แต่เมื่อได้รับการส่งเสริมการทอผ้าจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมาจัดอบรมการทอผ้าให้ จึงหันมาทอผ้าด้วยกี่หลังตามแบบคนเมือง ทำให้ทอได้เร็วขึ้นกว่ากี่เอวมาก แต่ก็ยังรักษารูปแบบ ลวดลายแบบดั้งเดิมของตนไว้ ทั้งเสื้อและซิ่น และเริ่มมีกลุ่มทอผ้าส่งออกไปขายตามที่ต่างๆ โดยมีราคาถูกกว่าที่อื่น แต่ก็ยังไม่ได้จัดเป็นกลุ่มหรือเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เป็นทางการนัก และเป็นการขายเองหลายราย

    สิ่งที่ผู้มาเยือนจะได้พบหรือได้ประสบการณ์สำหรับบ้านแม่ซานี้ในปัจจุบัน ประกอบด้วย การล่องแพในน้ำแจ่มที่ไหลผ่านมาหมู่บ้าน ผ้าทอหรือเสื้อผ้าแบบกะเหรี่ยง และความรู้และรับการรักษาด้วยสมุนไพรตามภูมิปัญญากระเหรี่ยง ด้วยสมุนไพรไม้ป่าที่มีในป่ารอบหมู่บ้าน


 

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 04 มี.ค. 2563 03:03