พิธีเลี้ยงผีฝาย

ที่ตั้ง : หลายแห่งตามลำน้ำ อ.แม่แจ่ม

พ่อใจ๋โพธินา อยู่บ้านไร่ ม.10 ต.ท่าผา อดีตแก่ฝายหลวงน้ำแม่แจ่ม ได้เล่าเรื่องการเลี้ยงผีฝายหลวงน้ำแม่แจ่มว่า ก่อนจะลงมือทำนาของทุกปีพอฝนเริ่มตกประมาณเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม ผู้ที่เป็นแก่ฝายจะต้องเริ่มประชุมทีมงาน ซึ่งมี แก่หลวง 1 คน แก่ล่าม 1 คน เลขา 1 คน และเหรัญญิก 1 คน เพื่อเตรียมงานการเลี้ยงผีฝายประจำปีและกำหนดวันเลี้ยงผีฝายในปีนั้น ๆ ซึ่งจะไม่กำหนดตายตัว เอาวันที่เหมาะสมและสมาชิกที่มีนารับน้ำทุกคนว่างพิธีที่บ้านไร่ จัดที่หมู่ 10

การเลี้ยงประจำปี สิ่งที่ต้องเตรียม คือ ไก่ 3 คู่ 6 ตัว เหล้าขาว 6 ขวด ผู้มีหน้าที่จัดหาไก่และเหล้าคือ สมาชิกที่ถูกกำหนดเกณฑ์ปีละ 6 คน คัดจากสมาชิกทั้งหมดที่มีแล้วหมุนเวียนไล่เรียงกันไปทุกปี เมื่อครบแล้วก็เริ่มต้นใหม่ การเก็บค่าต๊างน้ำ คือค่าน้ำใช้ในการทำนาสมัยก่อนเก็บเป็นข้าว ไร่ละ 5 ถัง คนมีนามากก็เสียมาก คนมีนาน้อยก็เสียน้อย ปัจจุบันเปลี่ยนจากข้าวเป็นเงิน เก็บไร่ละ 100 บาท เงินหรือข้าวที่เก็บนี้จัดตั้งเป็นกองทุนฝายหลวงเพื่อใช้ในกิจการของฝาย เช่น ซ่อมแซมเมื่อฝายชำรุด และให้สมาชิกกู้ยืมเมื่อมีความจำเป็นในการทำนา เช่น ค่าจ้างไถนา ซื้อพันธ์ข้าวเป็นต้น

การเลี้ยงผีฝายหลวงได้ยึดเอาประเพณีการเลี้ยงพ่อเจ้าหลวงเป็นแบบอย่าง คือ 3 ปี เลี้ยงใหญ่ 1 ครั้ง โดยใช้วัว 1 ตัว กำหนดเอาวัวกีบเผิ้ง หางไหม หูดี ตาดี ไก่ 1 คู่ เหล้าขาว 10 ขวด ที่บนฝายจะมีฮ้าน(เรือน)ผีฝาย ของเลี้ยงทุกอย่างจะนำขึ้นฮ้านโดยแก่หลวงจะเป็นผู้ทำพิธี เมื่อแล้วเสร็จสมาชิกทุกคนจะทานอาหารร่วมกันในที่ทำพิธี ปีพ.ศ.2556 การเลี้ยงใหญ่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 08 ธ.ค. 2563 16:24