ภาษาลัวะ (ละเวือะ)

  ภาษานับว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารในวิถีการดำรงชีวิตของชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งสะท้อน  โลกทัศน์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน ทั้งเสียงพูด ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเสียงพูด ปัจจุบัน วัฒนธรรมหลักในเขตอำเภอแม่แจ่มคือวัฒนธรรมไทยวน ใช้ภาษาไทยวนเป็นหลัก และชาวลัวะก็มีภาษาของตนเอง ภาษาลัวะนั้นไม่มีตัวอักษรสำหรับเขียน ทางราชบัณฑิตได้มีการพัฒนาให้กลุ่มที่ไม่มีอักษรใช้สามารถปรับ/ประดิษฐ์อักษรใช้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตนเองในภาษาตนเองในบางพื้นที่บ้างแล้วก็ตาม เช่นบ้านป่าแป บ้านละอูบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ไม่มีการนำเข้ามาใช้เขียนภาษาลัวะ

            จากนิทานเล่าว่า แต่เดิมลัวะนั้นมีอักษรใช้ ดังที่อาจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียวกล่าวว่า มีการอ่านลายเจี้ยลัวะให้พระญามังรายฟัง ดังนั้นจึงมีการเชื่อว่าแต่เดิมชาวลัวะอาจมีอักษรใช้ แต่ได้หายไป ส่วนนิทานก็เติมแต่งว่าชาวลัวะบันทัึกตัวหนังสือไว้ที่หนัง แต่เกิดหิวและนำไปเผาไฟกินเสีย ทำให้ตัวหนังสือที่อยู่บนหนังนั้นได้สูญหายไปในที่สุด

            ภาษาลัวะเป็นภาษาในตระกูลออสโตร-เอเชียติก ในกลุ่มมอญ-เขมร อันเป็นชนกลุ่มพื้นเมืองในบริเวณภาคเหนือของไทย และมักกล่าวถึงต้นๆ ในตำนานต่างๆ ในดินแดนแห่งนี้ ทุกคนให้ความสำคัญกับชาวลัวะว่าเป็นพี่ใหญ่ ชาวลัวะบางคนนั้นสามารถพูดภาษาปกาเกอะญอได้ พูดภาษาคำเมืองได้ พูดภาษาไทย และอังกฤษได้ในปัจจุบัน แต่จะหาคนต่างภาษามาพูดภาษาลัวะได้นั้น น้อยมาก

            อีกประการหนึ่งเนื่องจากภาษาลัวะอยู่ในกลุ่ม มอญ – เขมร จึงทำให้ภาษาลัวะเป็นภาษาที่ไม่มีระบบเสียงวรรณยุกต์ เวลาที่พูดภาษาคำเมืองก็จะเหมือนกับชาวมอญพูดภาษาไทย หรือชาวขมุพูดคำเมือง ทำให้บางคำก็ฟังดูยากเต็มที คนรุ่นก่อนอาจจะเรียนภาษาไทยยาก ด้วยสื่อตอนนั้นก็น้อย แต่ปัจจุบันสือภาษาไทยต่างๆ หาได้ง่าย และคนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบโรงเรียน ทำให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้ภาษาอื่นได้ง่ายขัึ้น 

            แต่นั่นก็ทำให้การรับภาษาข้างนอกมาใช้มากขั้นด้วยเช่นกัน

            คนรุ่นใหม่บางครั้งก็มีปัญหาการใช้คำศัพท์ที่แปลกแยกแตกต่างออกไปจากคนรุ่นก่อน ทำให้บางครั้งพบกว่าการสื่อสารไม่เข้าใจกันก็มี ยิ่งคนรุ่นใหม่ที่ออกไปเรียนและทำงานอยู่ในเมือง ก็เริ่มที่จะลืมภาษาลัวะไป ยิ่งนานไปการพูดภาษาลัวะก็เริ่มลดน้อยลงไป มีการนำคำยืมจากภาษาอื่นเข้ามาใช้ปนมากขึ้น (สัมภาษณ์ ไกรสร สิริจรูญ, ๒๕๖๒)

            โดยปกติ ชาวลัวะในตำบลปางหินฝน จะมีการใช้คำศัพท์ใกล้เคียงกัน แต่จะแตกต่างกันตรงสำเนียง และแต่ละสำเนียงก็จะบ่งบอกถึงความเป็นหมู่บ้านนั้นๆ ส่วนทางบ้านมืดหลอง จะมีการใช้คำศัพท์บางคำที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมก็มีความเข้าใจกันได้ดี เช่นเดียวกับลัวะทางอำเภอแม่ลาน้อยและแม่สะเรียง แต่ภาษาลัวะทางเมืองฮอด จะฟังกันไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าใด (สัมภาษณ์ ไกรสร สิริจรูญ, ๒๕๖๒)

 

            ตัวอย่างภาษาลัวะ ขำนำเสนอในการนับเลข การนับเลขของชาวลัวะนั้นมีความพิเศษของภาษา คือในหลักสิบ แต่ละค่าจะมีคำเรียกเฉพาะ ไม่ได้เอาเลข ๑ – ๙ มาเติมคำว่าสิบ อย่างภาษาไทย ตัวเลขตามสำเนียงบ้านเฮาะว่าดังนี้

                    ติ

                    ละอา

                    ละอัว

                    ปอน

                    พวน

                    เละ

                    อาเละ

                    เซนไตม์

                    เซนแตม

๑๐                กอ

๑๑                กอติ

๑๒                กอละอา

๒๐        เง

๓๐        งัว

๔๐        งปอน

๕๐        งฮวน

๖๐        ฮฺกเร

๗๐        อางเล้

๘๐        เงิ้นไตม์

๙๐        เงิ้นตาม

๑๐๐     ติฮฺวัว

            ส่วนตัวเลข ๑ – ๑๐ ในสำเนียงลัวะบ้านมืดหลอง ว่าดังนี้ เต้ะห์ ละอา ละอวย เปาน์ พอน และ อะและ สะเต้ะ สะแตม เกาน์ (สัมภาษณ์ นายอะดี เกตุรัตนสมบูรณ์, ๒๕๖๐)

 

 

            ส่วนเรื่องสี ในภาษาลัวะนั้น มีอยู่เพียง ๕ สีเท่านั้น ด้วยในภาษาลัวะมีเพียง ๕ คำ ส่วนสีอื่นนอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นคำยืมไป ๕ สีในภาษาลัวะ ได้แก่

 

                        สีแดง     เรียกว่า   สะครัก

                        สีดำ       เรียกว่า   ลอง (ลวง)

                        สีขาว      เรียกว่า   ปิง

                        สีเหลือง  เรียกว่า   สะไงม์

                        สีเขียว    เรียกว่า   สะงา

ภาษาลัวะ สำหรับคนไทยวนเอง มักจะออกเสียงยาก คำบางคำในชื่อบ้านนามเมือง อาจจะเป็นภาษาลัวะที่อยู่มาแต่

เดิม แล้วพอคนไทยวนเข้ามา ก็จะลากเข้าความในภาษาไทยวน เช่น

            “อมก๋อย” ที่เป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ คนไทยวนได้ยินก็เข้าใจในภาษาตนเองว่า เป็นเมืองที่อดอยากอดกลั้นจนต้องเอากลอยมาอม แต่แท้จริงแล้ว อมก๋อย เป็นภาษาลัวะ แปลว่าขุนน้ำ

            “ลอง” มักจะรู้จักกันในชื่อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งคำว่าลอง ในภาษาลัวะแปลว่าดำ พอไทยวนเข้ามาจึงลากเข้าความหมายไทยวนว่า เป็นเมืองที่พระนางจามเทวีมาทดลองสร้างเมืองก่อน

            “ปิง” อันเป็นชื่อแม่น้ำหลักของจังหวัดเชียงใหม่ โดย คำว่าปิง ในภาษาลัวะแปลว่า ขาว แม่น้ำปิงก็อาจจะหมายถึงขาวก็ได้ โดยที่ไทยวนได้แต่งตำนานว่า แม่น้ำปิง มาจากคำว่าแม่น้ำปลาปิ้ง

            “ระมิง” คำนี้ปัจจุบันเขียนแบบภาษาบาลีว่า “ระมิงค์” อันหมายถึงแม่น้ำปิง บางท่านสันนิษฐานว่า อาจจะมาจากคำว่า “ลัวะ-เม็ง” แล้วกลายเป็น ระมิง แต่ในภาษาลัวนั้น  ระมิง คือคำเรียกแม่น้ำปิง ในภาษาลัวะโดยตรงนั่นเอง

            ซึ่งอาจจะมีอีกหลายคำอันเป็นชื่อบ้านนามเมืองที่เราอาจจะไม่เข้าใจ แล้วจึงแต่งตำนานเข้าประกอบตามความเข้าใจของตน ทั้งที่คำดั้งเดิมอาจจะมาจากภาษาลัวะนี้ก็เป็นได้ เป็นต้น

            การออกเสียงของชาวลัวะนั้น แต่ละหมู่บ้านจะออกเสียงต่างกัน โดยต่างกันในคำศัพท์คนละคำ หรือ บางคำเป็นคำเดียวกันแต่ต่างที่เสียงสั้นเสียงยาวหรือโทนเสียงต่างกัน 

เพิ่มข้อมูลโดย : c001
แก้ไขเมื่อ : 03 มี.ค. 2564 14:43