ภาษาไทยวน หรือ ภาษาคำเมือง

    ภาษาคำเมือง หรือภาษาไทยวนเป็นภาษาในตระกูลไท และเป็นภาษาหลักคล้ายกับคำเมืองทั่วไป แต่ สำเนียงของแม่แจ่ม จะมีความใกล้เคียงกับสำเนียงของเชียงใหม่สายใต้ อันได้แก่อำเภอหางดงลงไป ที่มักจะมีการเอื้อนเสียงพูด โดยเฉพาะเสียงสระไอ บางทีจะออกเสียงคล้ายกับ ออย ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยมักจะเข้าใจผิด เช่น บ้านห้วยไห ก็จะออกเสียงคล้ายกับ บ้านห้วยหอย ทำให้คนฟังนึกถึงหอยชนิดต่างๆ ที่อยู่ในน้ำไป แต่เมื่อคุ้นเคยดีแล้ว ก็จะเข้าใจดีว่า เสียงที่ออกเป็น ออย นั้น เป็นเสียงออยจริง หรือเสียงไอ

    นอกจากนี้ คำสร้อยที่บ่งชัดของพื้นที่แม่แจ่ม นั่นคือคำว่า “แอ่” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวแม่แจ่ม เวลาพูดอะไรมักจะลงท้ายว่า แอ่ คล้ายกับที่ลำปางมักลงท้ายว่า หนา นั่นเอง

“ที่นี่แม่แจ่ม…แอ่”

    “แม่แจ่ม…แอ่” มักนำมาเป็นกลเม็ด (gimmick) ในการประชาสัมพันธ์ แม่แจ่ม ดังจุดชมวิว ปากทางเข้าบ้านแม่ปาน ก็จะมีป้ายเด่นชัด รวมถึง หน้าธนาคารออมสิน ของอำเภอแม่แจ่ม ที่ใช้คำลงท้ายของชาวแม่แจ่มเป็นจุดเด่นจุดขาย

    นอกจากภาษาพูดแล้ว ยังมีภาษาเขียนอีกด้วย

    แม่แจ่มมีการพบอักษรทั้งอักษรธรรม ทั้งที่เป็นอักษรธรรมรุ่นเก่าที่ติดกับฐานพระพุทธรูปบริเวณ คิชกูฏ วัดยางหลวง และอักษรฝักขามที่จารึกบนแผ่นไม้วัดช่างเคิ่ง อันว่าจารึกวัดพระธาตุช่างเคิ่งนี้ เป็นจารึกอักษรฝักขามบนแผ่นไม้ สร้างโดยเจ้าแก้วเมืองมา พ.ศ.2391 ซึ่งถือว่า เป็นอักษรฝักขามที่มีอายุน้อยมากในปัจจุบัน

จารึกฐานพระข้างคิชกูฏวัดยางหลวง อ่านได้ว่า “สกราชได้ 2026 ตัว เดือนสิบปฐมะแล้ว”

จารึกอักษรฝักขามบนแผ่นไม้ของวัดช่างเคิ่ง

ที่มา: ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

    ส่วนปัจจุบัน อักษรธรรมเป็นอักษรล้านนาใช้บันทึกเรื่องราว ทั้งตำรา พิธีกรรม พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นต้น คนที่รู้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ส่วนคนรุ่นใหม่มีไม่กี่คนที่จะสามารถอ่านออกเขียนได้

การจารลานเรื่องมาลัยโปรดโลก ของพ่อหนานปั๋น บ้านอาฮาม

    อำเภอแม่แจ่มยังคงมีจารีตการเขียนธรรมถวาย โดยเป็นการจารลงบนใบลานด้วยอักษรธรรมล้านนา เช่น พ่อหนานปั๋น บ้านอาฮาม, พ่อหนานทอง นิปุณะ เป็นต้น ซึ่งก็แล้วแต่ผู้ว่าจ้างให้จาร

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 09 มี.ค. 2563 03:17