หมอยาเมือง

    หมอยาเมือง ในอำเภอแม่แจ่ม มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ต้องใช้พิธีกรรม คาถา และการใช้ยาจากสมุนไพร ตามแบบโบราณ ที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขอยกตัวอย่างมาดังนี้

    “จูขวัญ” การจูขวัญหรือการเรียกขวัญ ด้วยความเชื่อว่า ขวัญ เป็นสิ่งสำคัญในร่างกาย เมื่อขวัญหนี ก็จะทำให้ร่างกายป่วย ไม่สบาย การเรียกจูขวัญ คือการเรียกขวัญที่หนีไปให้กลับมาสู่ตน อย่างง่ายสุดก็คือให้คนเฒ่าคนแก่ ใช้เส้นฝ้ายผูกข้อมือเรียกขวัญให้มาอยู่กับตัว หรือหากมากกว่านั้นก็จะต้องเตรียมขันด้วยเครื่องน้ำอบน้ำหอม ดอกไม้ ลำเทียน และไก่ต้ม หรือของขนมต่างๆ แล้วให้หมอ ทำพิธีเรียกขวัญด้วยถ้อยคำอันร้อยกรองไว้ตามท่วงทำนอง


การมัดมือเป็นการผูกขวัญให้อยู่กับตัว


การบูชาขวัญหัว ด้วยดอกไม้เหน็บไว้ที่มวยผม

โดยปกติ ชาวแม่แจ่มที่เป็นหญิงจะบูชาขวัญหัวด้วยดอกไม้ของหอม คือการเกล้ามวยผมแล้วเหน็บด้วยดอกไม้ของหอมที่มีอยู่ตามบ้าน

นอกจากนี้ยังมีการบูชาเทียน ปัด แก้ และตัด โดยพ่อหนานถาแก้ว สมวะถา บ้านกองกาน ซึ่งสืบครูมาจากหลวงพ่ออิ่นใจ อินทวิชชโย วัดบ้านบนนา

    “ปู่ชาเทียน” หรือการบูชาเทียน ทั้งสะเดาะเคราะห์ ลดเคราะห์ เมื่อเห็นว่าทำกิจการต่างๆ มีอุปสรรค์ หรือรู้สึกเจ็บป่วยไม่สบาย ด้วยเชื่อว่าเคราะห์มาต้อง จึงต้องให้พ่ออาจารย์เขียนยันต์เทียน โดยต้องเลือกวันดี หาชื่อ วันเกิด อายุ ของเจ้าตัว ใส่ลงอักขระในยันต์

    “ปัดเคราะห์” เมื่อเจ้าตัวเจ็บไข้ได้ป่วย ไปโรงพยาบาลแล้วไม่หายขาด จำต้องได้ “ปัด”เคราะห์ให้ตกหายไป คนป่วยก็จะหายจากอาการป่วย โดยต้องใช้ สะตวง 1 อัน, ข้าว, ฝ้าย, ต๋าแหลว, คาเขียว แล้วไปทำพิธีบริเวณทางแยก หรือปากแม่น้ำ หรือทำตรงที่คนป่วยอยู่ก็ได้


พ่อหนานถาแก้ว สมวะถา ผู้ทำพิธีกรรม บ้านกองกาน

    “แก้” หรือการแก้ไขให้ดีขึ้น หรือแก้ไขจากอาการป่วยให้หาย โดยเตรียมของคือ กรวย 12 กรวย เหล้า 1 ขวด ไก่ปิ้ง ไข่ปิ้ง พร้อมเงินขันตั้ง 72 – 100 บาท

    “ตัดเกิด” เด็กน้อย อายุ 1 – 20 ปี ที่ป่วยไม่สบาย ก็จะตรวจดูในตำรา ว่าถูกผีพ่อเกิดแม่เกิด เจ้ากรรมนายเวร เข้ามาต้อง ก็จะมาตัด โดยใช้คาถาในการทำพิธี ก็จะใช้ฝ้ายขาว 3 เส้น แดง 3 เส้น ดำ 3 เส้น ยาววา โดยผูกกับรูปหุ่นที่อยู่ในสะตวง ส่วนอีกปลาย ผูกไว้กับข้อมือคนป่วย จากนั้นก็เสกคาถา เสร็จแล้วก็ตัดเส้นฝ้ายให้ขาด ส่วนที่เหลือทางหุ่น ก็เอาไปทิ้งที่แม่น้ำ หรือที่ไกล ส่วนฝ้ายที่เหลือติดฝ่ายคนป่วยก็จะมามนต์ด้ายแล้วมาผูกมือกับคนป่วย

    “หมอกระดูก” เมื่อแขนหักขาหักจากการตกต้นไม้ หรือด้วยสาเหตุอื่นใดก็ตาม ก่อนที่จะไปโรงพยาบาลอย่างในปัจจุบัน แต่เดิมจะอาศัยการรักษาแบบโบราณโดยอาศัยหมอต่อกระดูก เช่นนายตาคำ วงศ์ซื่อ ซึ่งเป็นหมอกระดูกต่อจากผู้เป็นบิดา

    การใช้สมุนไพรในการรักษา โดยใช้รากคา ขมิ้น ตำให้แหลก ผสมน้ำมันหมู เอาทาที่แผลพร้อมเป่าคาถากำกับลงไป พอกตรงที่หัก จากนั้นใช้เฝือกไม้หุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง จากนั้นเว้น 1 – 2 วันให้มาเปลี่ยนยารอบหนึ่ง ทำอย่างนี้จนกว่าจะหาย ประมาณ 3 เดือน (สัมภาษณ์นายตาคำ วงศ์ชื่อ, 2560)



นายตาคำ วงศ์ชื่อ หมอกระดูกพร้อมเฝือกไม้ไผ่สำหรับใช้ในการรักษา

    นอกจากนี้ยังมีการใช้สมุนไพร ในองค์ความรู้ในกลุ่มปกาเกอญอหรือกระเหรี่ยง เช่นที่บ้านแม่ซา จะใช้สมุนไพรในการรักษา เช่น การรักษาโรคความดัน จะใช้ต้นกะซิกะลิ (ขันทองพญานาค) ซึ่งเป็นไม้ป่า ใช้ในการรักษาความดัน และเป็นยาขับลมด้วย, โรคเบาหวาน ใช้เถายาแก้ดง ในการแก้ , ยาสลายนิ่ว ใช้เครือลิกคอเมติ (มะตาลฟ่อม) โดยนำเถามาต้มกิน

    นอกจากจะรู้เรื่องต้นไหนใช้แก้อะไรแล้ว ยังต้องมีองค์ความรู้ในการเก็บยาด้วย ซึ่งแต่ละเวลาสรรพคุณจะอยู่ต่างส่วนประกอบกัน เช่น อาจจะอยู่ใบ อยู่ต้น หรือราก ฉะนั้นการใช้ส่วนไหนของต้นมาเป็นยา ก็จะต้องรู้เวลาในการเก็บด้วย (สัมภาษณ์นายอาษา ปลูกเงิน, 2561)

 นายอาษา ปลูกเงิน หมอยาสมุนไพร บ้านแม่ซา ต.แม่นาจรดอกไม้ ลำเทียน และไก่ต้ม หรือของขนมต่างๆ แล้วให้หมอ ทำพิธีเรียกขวัญด้วยถ้อยคำอันร้อยกรองไว้ตามท่วงทำนอง

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 09 มี.ค. 2563 03:02