ระบบเหมืองฝาย

    ชาวแม่แจ่มอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติอย่างยิ่ง ด้วยอาชีพการเกษตร ต้องอาศัยน้ำฟ้าน้ำฝน และน้ำจากแม่น้ำลำห้วยต่างๆ และระบบการจัดการน้ำของชาวนาแม่แจ่มคือ “ระบบเหมืองฝาย” เป็นระบบการจัดการน้ำ ที่มีประสิทธิภาพสืบเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงมีความสำคัญสืบต่อไปในอนาคต ด้วยการเกษตรย่อมต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ

    ฝายหลวง ในแม่แจ่ม ได้แก่ฝายหลวงที่อยู่เหนือบ้านท้องฝาย นอกนั้นก็จะเป็นฝายแม่น้ำสาขาต่างๆ เช่น น้ำอวม น้ำแม่แรก น้ำแม่กึ๋ง น้ำแม่ศึก เป็นต้น แต่ละสาขาก็จะมีระบบเหมืองฝาย

    ในแต่ละฝายก็จะมีกลุ่มผู้ดูแล ได้แก่ แก่ฝายแก่เหมือง คือหัวหน้าสูงสุด, ล่ามเหมืองล่ามฝาย คือผู้ประสานงานแต่ละฝายแต่ละเหมือง และ เลขา ที่จะจดบันทึกข้อตกลงต่างๆ

    เมื่อถึงเดือน 8 ก็จะมีการเลี้ยงผูขุนน้ำ หรือประเพณีปีใหม่น้อย เมื่อทำการขอฝนแล้ว ก็จะเตรียมการเข้าสู่ฤดูทำนา

    พอถึงเดือน 9 แก่เหมืองแก่ฝาย จะประกาศให้ผู้ที่ใช้น้ำในแต่ละสายมาประชุมกันเพื่อที่จะแจ้งการทำความสะอาดเหมืองฝาย เพื่อไม่ให้มีสิ่งใดขวางการไหลของน้ำเข้าสู่นา เรียกว่า “ล้องเหมือง”

    การกะเกณฑ์คนมาร่วมในการล้องเหมืองล้องฝายนั้น จะนับจากจำนวนที่นา ที่ใช้น้ำ โดยที่นา 10 ไร่ ต่อคน 1 คน จะใช้เวลาประมาณ 1 – 4 วัน นอกจากนี้ สายหลักใครจะได้พื้นที่ทำงานกว้างน้อยแค่ไหน ขึ้นกับจำนวนนา เช่นกัน

    จากนั้นก็จะทำการเลี้ยงผีฝาย โดยใช้ไก่ 6 ตัว เหล้า 6 พัน (6 ขวด) กรวยดอกไม้ 12 กรวย โดยเก็บเงินกันจากสมาชิกที่ใช้น้ำในการการทำนา ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ในการบอกกล่าวและเลี้ยงคือ แก่เหมืองแก่ฝาย ในการเลี้ยงนั้นจะมีการอัญเชิญผีที่ชาวแม่แจ่มเคารพนับถือนั่นคือ เจ้าพ่อหลวงทั้งสามพระองค์ คือ เจ้าหลวงม่วงก๋อน เจ้าหลวงกอนเมือง และเจ้าหลวงดอนแท่น นอกจากนี้ยังมีการเชิญเจ้าที่เจ้าแดน และ ขุนหลวงบ่าลังก๊ะ (ขุนหลวงวิรังคะ) กษัตริย์ในตำนานของชาวลัวะที่พ่ายให้กับวัฒนธรรมหริภุญไชย

    ขุนหลวงกลายเป็นผีที่รักษาขุนน้ำในแม่แจ่ม ในการเลี้ยงผีขุนน้ำ ผีเหมืองผีฝาย ก็จะมีการกล่าวอ้างถึงขุนหลวงบ่าลังก๊ะทุกครั้งไป (สัมภาษณ์นายอุ่นใจ โพธินา, 2560)

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 09 มี.ค. 2563 02:49