เจ้าพ่อหลวง

    เจ้าพ่อหลวงของอำเภอแม่แจ่ม ได้อัญเชิญมาจากดอยหลวงเชียงดาว ที่อารักษ์เมืองเชียงใหม่สถิตอยู่ที่นั่น ได้อัญเชิญเจ้าหลวงมาปกปักษ์รักษาชาวแม่แจ่ม 3 พระองค์ด้วยกัน คือ เจ้าหลวงม่วงก๋อน มีหอหลวงอยู่ที่บ้านยางหลวง, เจ้าหลวงกอนเมือง หออยู่ที่บ้านพร้าวหนุ่ม และเจ้าหลวงดอนแท่น หออยู่ที่น้ำแม่ออกฮู พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายมาปกปักษ์รักษา เป็นศูนย์รวมใจของชาวแม่แจ่มทุกคน นอกจากตำแหน่งหอใหญ่ทั้ง 3 หอแล้ว ยังมีหอย่อยๆ อีก เช่นที่ ผามะโฮง, ม่อนคุ่ม, บ้านสองธาร (แม่ขี้มูก) เป็นต้น

    ชาวแม่แจ่มหลายคนยึดถึงพ่อเจ้าหลวง… เวลาลูกหลานออกไปทำงานหรือเรียนต่อในเมือง ก็จะต้องบอกกล่าวให้พ่อเจ้าหลวงตามติดไปดูแลรักษา อย่าให้ลูกหลานออกนอกลู่นอกทาง บางคนป่วยหนัก แล้วหายดี ก็เชื่อว่า พ่อเจ้าหลวงช่วยเหลือให้พันภัยในครั้งนี้ (สัมภาษณ์นายก้อนแก้ว ทะบุญ, 2560) ในประเพณีต่างๆ ก็จะมีพ่อเจ้าหลวงมาเกี่ยวข้อง เช่น ช่วงเข้าพรรษา ชาวบ้านจะไปขอขมาเข้าพรรษา ออกพรรษาก็ไปรับต้อน สงกรานต์ปีใหม่ก็ไปดำหัว และงานเลี้ยงประเพณี หรือเลี้ยงเมือง จะกระทำกันในเดือน 8 ช่วงข้างขึ้นที่ตรงกับวันผีกินควาย

ในหอเจ้าหลวง มีตำแหน่งและสิ่งที่มีในหอ ประกอบด้วย

1. ตั้งข้าว จะมี 2 คน คือตั้งข้าวหลักและตั้งข้าวรอง สำหรับหอเจ้าหลวงม่วงก๋อน ตั้งข้าวหลักคือพ่อแก้ว ทะบุญ บ้านไร ส่วนตั้งข้าวรอง คือ พ่อน้อยดวงคำ บ้านยางหลวง เป็นผู้บอกกล่าว กับพ่อเจ้าหลวง

2. ที่นั่ง หรือม้าขึ่ หรือร่างทรง จะเป็นผู้หญิง ชาวบ้านจึงเรียกว่า แม่ที่นั่ง สำหรับให้พ่อเจ้าหลวงลงมาประทับร่างเพื่อพูดคุยติดต่อกับลูกหลาน

3. ช่างซอ จะเป็นผู้ที่ใช้บทซอ ซอเชิญพ่อเจ้าหลวงให้ลงมาประทับร่างแม่ที่นั่ง

4. ช่างปี่ อาจจะ 3 คน หรือ 4 คน ใช้เป่าประกอบการซออัญเชิญ

    ในการบูชาพ่อเจ้าหลวง ก็จะมีเครื่องบูชาแตกต่างกันในแต่ละงาน โดยแบ่งเป็นเครื่องบูชาในการเลี้ยงเมือง, การไหว้บอกกล่าวสำหรับคนทั้งเรือน และ การนำเครื่องสักการะไปรวมกันในฐานะตัวแทนแต่ละคน


เครื่องสักการะเลี้ยงเมือง ประกอบด้วย

1. ขันหลวง ขันหลวงประกอบด้วยกรวยดอกไม้ 12 กรวย (โดยแบ่งเป็น กรวยดอกไม้เทียนคู่ 4 กรวย, กรวยดอกไม้และเทียน 1 เล่ม 4 กรวย, กรวยหมากพลู (หมาก 3 คำ พลู 1 ใบ) อีก 4 กรวย)

2. หมากขด 4 ขด

3. หมากก้อม 4 ก้อม (ก้อมละ 3 หรือ 4 คำ)

4. ผ้าขาว 1 วา

5. ผ้าแดง 1 วา (ผ้าแดงวางก่อนผ้าขาววางทับ)

6. เบี้ย 1,300 ( 13 ตัว)

7. เงินธ็อก (หรือเงินที่เป็นโลหะเงิน)

8. เงิน 32 บาท

9. มะะพร้าว 2 ลูก

10. แครงหมาก หรือเชี่ยนหมาก

11. เหล้าในขัน 1 ขวด

12. เหล้าสำหรับต้อน 3 ขวด (ให้พ่อเจ้าหลวงหลังจากที่ลงแม่ที่นั่งแล้ว)

13. ชุดนุ่ง เป็นผ้าโสร่งยาว (ในช่วงปีใหม่ จะยาวพอนุ่งโจงได้ หากปกติ ก็ยาวพอที่นุ่งได้)

เครื่องสักการะในการบอกกล่าวทั้งเรือน ประกอบด้วย

1. ขันหลวง

2. ไก่ 1 คู่

3. เหล้า 1 ขวด

4. น้ำส้มป้อย

5. ฝ้ายหมอนมือ (ฝ้ายสำหรับมือ)

ส่วนเครื่องสักการะที่จะนำไปรวมกัน ได้แก่กรวยดอกไม้ 1 คู่ และ ไก่ 1 คู่

สำหรับเครื่องบูชาหลักช้างหลักม้า ได้แก่ กล้วยอ้อย ข้าวเปลือกข้าวสาร


หางหมู มัดติดตาแหลวหลวงปักไว้หลังหอพ่อเจ้าหลวง


สำหรับขั้นตอนในพิธี จะเริ่มลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. เหมียดขัน ไหว้ขันหลวง โดยตั้งข้าว

2. นำกรวยดอกไม้ 2 กรวย และน้ำส้มป่อย ไปขอขมาสัตว์ที่จะนำมาฆ่านั้น

3. เมื่อฆ่าแล้ว จะนำตาแหลวหลวง ไปแตะเลือด ให้ครบทุกตาของตาแหลวนั้น พร้อมกับตัดปลายหางสัตว์นั้น มัดไว้ตรงกลาง แล้วนำไปปักไว้ด้านหลังหอ และยังมีตาแหลวงเล็กอีก 4 อัน เอาไปแตะเลือดทุกอัน แล้วไปเชิญยังเสาหลักเมือง แล้วนำเข้าสู่หอ จากนั้นค่อยนำตาแหลวไปปักใน 4 ทิศ

4. เมื่อฆ่าสัตว์แล้วก็จะนำมาประกอบอาหาร หากเป็นควาย นำไปทำชิ้นลาบ แกงอ่อน และชิ้นปิ้ง ส่วนหมู ก็จะนำไปลาบ แกงอ่อม ปิ้ง และแกงก๋ำ (คือเอาเฉพาะมันมาทำ)

5. แบ่งอาหารเป็น 17 ขัน โดยแบ่ง 2 ขันแรกเป็นหลักช้างหลักม้า จัดอาหารเป็น 4 ชุด เป็นขันต้น ขันถวาย 12 ขัน และขันแสวง 3 ขัน

6. เมื่ออาหารครบแล้ว ก็นำขันข้าวสองขัน ไปถวายหลักช้างหลักม้า

7. จากนั้นก็นำขันอีก 12 ขันไปไหว้เชิญเจ้าหลวง โดยช่างซอเป็นผู้ซอเชิญ ซอประมาณ 3 บท เจ้าหลวงก็ลงม้าขี่ที่นั่ง

8. จากนั้นพ่อตั้งข้าว ก็จะเป็นผู้เจรจาความต่างๆ กับพ่อเจ้าหลวง จนพ่อเจ้าหลวงกลับ

9. จากนั้นก็นำขันข้าวอีก 3 ขันเรียกว่าขันแสวง สำหรับบริวารของเจ้าหลวง

10. จากนั้นตั้งข้าวก็จะไหว้ เชิญบริวารมารับขันแสวง

11. ฟายขัน เป็นอันเสร็จพิธี

12. ชาวบ้านต่างมารับของถวายไปกินต่อได้


พ่อก้อนแก้ว ทะบุญ ตั้งข้าวเจ้าพ่อหลวงม่วงก๋อน

    หน้าที่สำคัญหลักอยู่ที่ตั้งข้าว เป็นผู้ติดต่อ เจรจากับเจ้าหลวง และเป็นเจ้าพิธีทั้งหมดอีกด้วย กอปรกับตำแหน่งนี้ (และอีกหลายๆตำแหน่ง) จะต้องมีการสืบทอดในตระกูล หรือมีสายสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่ว่าใครคนใดจะเป็นได้ นอกจากจะสืบเชื้อสายแล้วยังต้องเป็นผู้ที่เจ้าหลวงเลือกด้วย

    ทุกคน ไม่ว่าจะแม่ที่นั่ง, ตั้งข้าว ทุกคนมักไม่อยากจะเป็น และมักจะหนีในการที่จะรับหน้าที่นี้ทุกคน ด้วยความพร้อมของตนเอง ของครอบครัวยังไม่เอื้ออำนวย หรือไม่สามารถที่จะออกไปทำงานที่อื่นที่ไกลได้ ต้องมาทำหน้าที่บอกกล่าว สื่อสารระหว่างชาวบ้านกับพ่อเจ้าหลวงอยู่ตลอดเวลา จึงมักจะบ่ายเบี่ยงเลี่ยง บางครั้งผู้ที่เจ้าหลวงต้องการให้รับตำแหน่งนั้น ป่วย ไม่สบาย ไปตรวจรักษาโรงพยาบาลไหน ก็รักษาไม่หาย จนเมื่อรับปากกับพ่อเจ้าหลวง อาการป่วยนั้นก็หายราวกับหยิบออก

    ด้วยตั้งข้าวคนใหม่ เป็นผู้ที่มีเชื้อสายตั้งข้าวเดิม และมักจะอยู่ใกล้ หรืออยู่ร่วมพิธีอยู่บ่อยครั้ง จะอาศัยการจดจำ เรียนรู้จากตั้งข้าวคนก่อนอยู่แล้ว การรับหน้าที่ใหม่เมื่อตั้งข้าวคนเก่าตายไป จึงไม่ค่อยมีปัญหา บางครั้งตั้งข้าวมักจะมีการติดต่อกับเจ้าหลวงในความฝันก็มี นอกจากนี้มักจะมีการแต่งตั้งตั้งข้าวรอง เพื่อช่วยผ่อนแรงตั้งข้าวหลัก ในการบอกกล่าวกับเจ้าหลวงด้วย

    รุ่นสืบรุ่น ทั้งตัวผู้ประกอบพิธี และผู้ร่วมพิธี ตลอดถึงบุคคลทั่วไปจะเคารพนับถือพ่อเจ้าหลวงแห่งอำเภอแม่แจ่มอย่างแนบแน่นเสมอ

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 10 ธ.ค. 2563 10:04