การเล่นพื้นบ้าน

    การละเล่นพื้นบ้าน มีกิจกรรมของเด็กๆ ที่ใช้เล่นกันในยามว่าง การละเล่นนั้นเปรียบเหมือนการที่เด็กจะได้เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม กิจกรรมต่างๆ ในสังคม การยอมรับในกฎกติการะหว่างกัน การเล่นมักมีหัวหน้า เรียกว่า “โป่” ในการดูแลเด็กๆ ทั้งหมด หากมีคนใดที่โกง ก็จะไม่มีใครยอมเล่นด้วย การละเล่นบางอย่าง เล่นภายในกลุ่มผู้ชาย บางอย่างเล่นในกลุ่มผู้หญิง และการละเล่นส่วนใหญ่ก็จะเล่นด้วยกันได้ทั้งชายหญิง นอกจากนี้ เด็กแม่แจ่มมักจะไปเล่นน้ำแม่แจ่มกันแต่น้อย ทำให้ว่ายน้ำเป็นกันแต่เด็ก ส่วนการเล่นต่างๆ มีการละเล่นหลากหลาย โดยจะเล่าพอเป็นสังเขปดังนี้ (สัมภาษณ์พ่ออิ่นคำ นิปุนะ และพ่อโทน คำมาวรรณ, 2560)

“เล่นตี”

    เป็นการละเล่นเช่นเดียวกับการเล่นตี่จับ มีการแบ่งผู้คนออกเป็นสองฝ่าย มีเส้นกลางคั่นไว้เป็นแดน เมื่อจะข้ามไปจับคนอีกฝั่งมาเป็นเชลยฝั่งตนเอง ต้องพูดคำว่า “ตี” ให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากหมดเสียงโดยไม่ได้กลับเขตตน ก็จะถูกจับเป็นเชลย

“เล่นเป่”

    การเล่นเป่ คือการที่ผู้เล่นคนหนึ่งกั้นเป็นแนวแดน ไล่แตะคนที่ก้าวผ่านไปมาให้ได้ โดยจะมีหลายคนหลายเส้นก็ได้ แต่คนอีกฝ่ายหนึ่งต้องวิ่งฝ่าไปให้ผ่านทุกเส้นให้ได้ และคนที่อยู่ประจำเส้น ต้องพยายามแต่คนที่ผ่านไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นตนเองจะต้องประจำเส้นนั้นต่อไป หากแตะใครได้ คนนั้นต้องมาอยู่ประจำแทนต่อไปเช่นกัน

“ลู่เสา”

    ลู่เสา หรือชิงเสา โดยผู้เล่นจะต้องมีจำนวนเกินจำนวนเสาที่มี เสาแต่ละต้นจะมีคนประจำหนึ่งคน ส่วนคนที่เหลือ ก็พยายาม หลอกล่อ และพยายามชิงเสาให้ได้ ระหว่างนั้น คนที่อยู่ประจำเสาจะต้องเปลี่ยนเสาไปประจำเสาต้นอื่น และต้องไปให้ถึงก่อนคนอื่น ส่วนคนที่ไม่ได้ประจำเสา ก็จะต้องอาศัยจังหวะนี้ ชิงเสาให้ได้ก่อน ใครที่ไม่มีเสาประจำ ก็จะต้องออกมารอตรงกลางเพื่อที่จะชิงเสาต่อไป

“ปอยหลวง”

    เป็นการละเล่นที่จำลองเอาประเพณีปอยหลวง หรืองานเฉลิมฉลองมาเล่น โดยเด็กๆ จะช่วยกันเตรียมต้นครัวทาน เช่นเดียวกับที่พ่อแม่ คนเฒ่าคนแก่เตรียมต้นครัวทานในการฉลองนั่นเอง เด็กๆก็จะแบ่งหน้าที่กันในการเตรียมของ เมื่อเตรียมต้นครัวทานเสร็จแล้ว ก็จะแบ่งหน้าที่กันตามที่พึงมีในงานปอยหลวงบ้างหาม…ต้นครัวทาน บ้างแห่…ฆ้องแห่กลอง บ้างฟ้อน เป็นที่สนุกสนานรื่นเริงการละเล่นประเภทนี้ เป็นการเลียนแบบวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่ให้เด็กได้ซึมซับความรู้ผสานกับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปในตัว

“ก๋างเก๋ง”

    เป็นการละเล่นไม้ต่อขา โดยใช้ไม้ไผ่เล่มยาว ติดด้วยไม้ที่ใช้เป็นที่พักเท้า โดยวางตำแหน่งสูงขึ้นมาครึ่งหน้าแค่งหรือหัวเขา ผู้เล่นก็จะขึ้นไปอยู่บนที่พักเท้าทั้งสองข้าง ต้องทรงตัวให้อยู่และก้าวเดินไปพร้อมกับประคับประคองไม่ให้ล้มลงไป การละเล่นประเภทนี้ เป็นการฝึกการทรงตัว เรียนรู้เรื่องศูนย์รวมน้ำหนักไปพร้อมกับความสนุก

“ก็อบแก็บ”

    ก็อบแก็บเป็นการละเล่นสำหรับเด็กที่ยังไม่โตนัก เพราะต้องยืนทรงตัวบนก็อบแก็บ หรือกะลามะพร้าวสองซีก เจาะรูตรงกลาง เอาเชือกร้อยเข้าด้วยกัน การเล่นจะต้องใช้เท้าวางบนกะลามะพร้าวทั้งสองข้าง ใช้นิ้วเท้าคีบเชือกที่ร้อยระหว่างกะลาทั้งสอง มือถือเชือกที่ร้อยนั้น จากนั้นก็ใช้เดิน หรือวิ่งแข่งกัน

“เล่นบ่ากอน”

    การเล่นบ่ากอน เป็นการละเล่นของหนุ่มสาว ที่เริ่มจะจีบกันเป็น “ตัวพ่อตัวแม่” หรือเป็นคนรักกัน ก็จะจับคู่เล่นระหว่างหนุ่มสาว นิยมเล่มกันในช่วงก่อนสงกรานต์เล็กน้อย

    ลูกบ่ากอนทำมาจากผ้าเย็บเป็นถุง ข้างในใส่ด้วยเม็ดมะขาว ใช้โยนไปมาระหว่างกัน ใครรับลูกบ่ากอนไม่ได้ ก็แพ้ไป ต้องปรับไหมเป็นของที่อยู่กับตัวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นสำคัญ นับเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เรียนรู้กันและกัน

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 09 มี.ค. 2563 02:26