ซอ

    ซอ เป็นวรรณกรรมแบบมุขปาฐะ โดยทั่วไปมักจะเป็นการโต้ตอบกันด้วยปฏิภาณระหว่างช่างซอชายและช่างซอหญิง อำเภอแม่แจ่ม เป็นอำเภอที่ผู้คนนิยมฟังซอกันอย่างมาก จะพบเห็นว่า ในงานเฉลิมฉลองต่างๆ มักจะมีการว่าจ้างช่างซอมาซอให้ความบันเทิงอยู่ตลอดเวลา บางวัดนิยมสร้างผามซอ หรือเวทีซอแบบถาวรไว้กับวัด การการฟังซอของชาวแม่แจ่ม เป็นการฟังแบบตั้งใจ เข้าใจถึงถ้อยคำและจังหวะ ว่ากันว่า ช่างซอคนไหนซอผิด หรือช่างปี่คนไหนเป่าปี่ผิด ชาวบ้านแม่แจ่มจะรู้ได้โดยทันที

    จากการรับฟังซออย่างตั้งใจนี้ ทำให้ชาวแม่แจ่มบางท่านสามารถแต่งบทซอได้ อย่างเช่น ซอ 4 บาท, ซอเพลงสวนหอมและสวนกะหล่ำ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น นอกจากนี้ยังมีช่างซอรับจ้าง ที่ลงผามหรือเลิกซอไปแล้วก็มี เช่น แม่ผัน บ้านเหล่าป่าก่อ เป็นต้น ปัจจุบัน ช่างซอรับจ้างตามงาม ที่มาจากแม่แจ่ม ก็มีอยู่ 3 คนด้วยกัน คือ “อ้อมจันทร์ แม่แจ่ม” หรือชื่อจริง คือ นางอวิกา แก้วเมืองมา , “คำหน้อย แม่แจ่ม” หรือชื่อจริงคือ นางธารทิพย์ บุญเทียม และแก้วลี แม่แจ่ม หรือชื่อจริงคือ เกวลี มังกาละ

    นอกจากการซอจะใช้ในการให้ความบันเทิงในงานเฉลิมฉลองต่างๆ แล้ว ซอ ยังใช้ในพิธีกรรมด้วย โดยเฉพาะการเลี้ยงผีเมือง ซึ่งในการเชิญเจ้าหลวงมานั้น จะต้องมีการซอเชิญ ในแต่ละหอ จะมีคนที่ทำหน้าที่เป็นช่างปี่ และช่างซอ ประจำหอเจ้าหลวงนั้นๆ ด้วยเสมอ โดยการซอในงานพ่อเจ้าหลวงนั้น ช่างซอจะเริ่มตั้งแต่ ตั้งเชียงใหม่ กลายเชียงแสน จะปุ และปิดท้ายด้วยทำนอง ละม้าย อันเป็นทำนองหลักในการเชิญ (สัมภาษณ์นายก้อนแก้ว ทะบุญ, 2560)

    ช่างซอประจำหอเจ้าหลวง คนปัจจุบัน คือ พ่อนวล แสนปัญญา ซึ่งตัวพ่อนวลเองนั้นไม่ใช่คนแม่แจ่มแต่เป็นจอมทอง และได้เป็นลูกศิษย์พ่อแก้วตาไหล และเริ่มซอตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา ไปซอรับจ้างที่ต่างๆ สุดท้ายก็ได้มาเป็นเขยที่บ้านยางหลวง จากนั้นก็ได้รับเลือกให้เป็นช่างซอประจำหอเจ้าหลวงม่วงก๋อน ในการซอเชิญพ่อเจ้าหลวง โดยร่วมกับ พ่อปั๋น สุภาใจ เป็นช่างซึง และพ่อเหมย มังกาละ เป็นช่างปี่

    พ่อนวลเมื่อเป็นช่างซอพ่อเจ้าหลวงแล้ว ทำให้การซอนั่งผามน้อยลงไป ด้วยข้อกำหนดในการเป็นช่างซอของพ่อเจ้าหลวงนั้นมาก แต่ด้วยบางครั้งจำเป็นต้อง ซอ หาเลี้ยงชีพ จึงต้องทำการขออนุญาตจากพ่อเจ้าหลวง แต่ก็จะซอแบบในศีลในธรรมได้เท่านั้น ไม่สามารถออกซอบู๊ได้ (สัมภาษณ์นายนวล แสนปัญญา, 2560)

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 08 มี.ค. 2563 23:54