ช่างเงิน

    ช่างที่ทำเครื่องเงิน มักจะเป็นชาวลัวะ ที่มีเทคนิควิธีการ ลวดลายเฉพาะตัว ชาวลัวะมักใช้เครื่องประดับที่ทำจากเงิน เช่น ตุ้มหู กำไลหรือสร้อยที่ใช้เชือกถักเม็ดเงิน มีดหลูบเงิน เป็นต้น

เครื่องประดับเงิน ฝีมือชาวลัวะ

เครื่องประดับเงิน ที่จะมอบให้เจ้าสาวในงานแต่งงาน

มีดหลูบเงิน ของใช้ติดตัวของเจ้าบ่าว

    หมู่บ้านที่เป็นช่างเงินนั้นส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านแปะ ตำบลปางหินฝน พ่อดวงตา วันจิตรพนา เล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่จะทำ “ฮางเมา” หรือสร้อย สร้อยที่ว่า คือ การร้อยเม็ดเงิน (เม็ดเงินที่คล้ายเงินพดด้วง) ซึ่งใช้สำหรับการรับขวัญเด็ก หรือมอบให้เจ้าสาวในงานแต่งงาน เป็นต้น

    วิธีการทำเม็ดเงินสำหรับร้อยนั้น มักจะเป็นเงิน 92.5% (ผสมทองแดง เพื่อให้เงินแข็งขึ้น ขึ้นรูปได้ง่าย) แรกเริ่มนั้นก็นำเม็ดเงินมาหลอมในเบ้าหลอม โดยกะสัดส่วนผสมให้พอเหมาะ (ซึ่งสัดส่วนการผสมนี้ มักจะเป็นความลับ) เบ้าหลอมเป็นเบ้าหลอมดินเผา เมื่อเงินหลอมในเบ้าแล้ว ก็จะเป็นก้อนขนาดที่ต้องการ แล้วจึงนำมาตึขึ้นรูป แล้วมาต้มในน้ำส้มป่อยเพื่อให้เงินเงางาม (สัมภาษณ์นายดวงตา วันจิตรพนา, 2561)

เบ้าหลอมเงินและเตาหลอมเงิน

    จากนั้นมีการตอกลาย เรียกว่า “ลายไข่ปลา” อันหมายถึงความร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ เพราะปลา 1 ตัว นั้นมีไข่ในท้องจำนวนมาก (สัมภาษณ์นายวรรัตน์ ผองชนอารยะ, 2561) ชาวลัวะมักมีความสัมพันธ์กับปลา นอกจากจะใช้ปลาในพิธีกรรมแล้ว ยังมีการตอกรูปปลา ไว้ที่ก้นปลอกดาบอีกด้วย


เครื่องเงินของชาวลัวะ

    การตีเครื่องเงิน นอกจากจะตีฮางเมา หรือสร้อยแล้ว ยังมีการทำ ลาน (จี้หู), ปักมือ (แหวน) อันเป็นเครื่องประดับ และนอกจากนี้ยังมีการตีใบดาบ และปลอกดาบหรือมีดอีกด้วย ซึ่งมีดหุ้มเงินด้ามงา นั้น จะเป็นเครื่องประดับผู้ชาย อันแสดงถึงฐานะและความร่ำรวย ในการแต่งตัวเต็มยศ จะห้อยมีดหุ้มเงินด้ามงาไว้ที่เอว


ปลอกมีดทำจากเงิน ตอกลายปลาที่ด้านบน และด้ามเป็นงาช้างของชาวลัวะ

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 08 มี.ค. 2563 22:33