ช่างทอผ้า

    ช่างทอผ้านี้ เป็นงานของผู้หญิง ทั้งชาวไทยวน ลัวะ และปกาเกอญอ ล้วนแล้วแต่มีฝีมือด้านนี้กันทั้งสิ้น ด้วยผ้าเป็นปัจจัยหลักนั่นคือเครื่องนุ่งห่ม ตามอัตลักษณ์ของตน แต่เดิมเป็นการทอผ้าใช้กันในครอบครัว และมีบางส่วนที่ทอขายสำหรับคนที่ไม่มีฝีมือทางด้านนี้

    การทอผ้า มีการทอหลากหลายชนิด บางส่วนทอผ้าพื้นสำหรับนำไปตัดเสื้อและกางเกง สำหรับผู้ชาย บางส่วนทอผ้าห่ม ผ้าทุ้ม ถุงย่าม หน้าหมอน และที่สำคัญอันเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อของแม่แจ่มนั้น คือ ผ้าซิ่นตีนจก

    ช่างทอผ้าไทยวน ชาวไทยวนหรือคนเมืองมีเอกลักษณ์อยู่ที่การทอผ้าซิ่นตีนจก ผ้าตีนจกแม่แจ่มมีความสวยงาม ละเอียดมาก และทอแน่น จนบางครั้งยากต่อการแยกแยะว่าด้านหน้าหรือด้านหลัง

    ผ้าซิ่นตีนจกของแม่แจ่ม มีลวดหลายหลักอยู่ 16 ลาย แบ่งเป็นลายแม่แจ่มโบราณ มี 11 ลาย ได้แก่ ลายหละกอนหลวง ลายเจียงแสนน้อย ลายขันเสี้ยนสำ ลายหงส์บี้ ลายหงส์ปล่อย ลายโกมฮูปนก ลายโกมหัวหมอน ลายขันสามเอว ลายขันเอวอู ลายกุดขอเบ็ด และลายนกกุม และลวดลายใหม่ที่เป็นที่นิยมอีกจำนวน 5 ลาย ได้แก่ ลายหละกอนหน้อย ลายหละกอนก๋าง ลายเจียงแสนหลวง ลายนาคกูม และลายนกนอน โดยทั้งหมดนี้ ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) และใช้ตรา GI ได้

ผ้าตีนจกแม่แจ่ม

แม่เลิศ คำมาวรรณ ทอตุงเพื่อนำไปถวายพระในงานปอยหลวงวัดบ้านทับ

ตัวอย่างลายหน้าหมอน

    ผ้าตีนจก ถือเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อ เมื่อกล่าวถึงแม่แจ่ม ผู้คนมักจะนึกถือผ้าตีนจกเป็นสิ่งแรก ปัจจุบันมีหลายหมู่บ้านที่ทอผ้าตีนจกกัน เช่น บ้านท้องฝาย บ้านทัพ บ้านไร่ บ้านสองธาร บ้านยางหลวง บ้านกองกาน ฯลฯ นอกจากจะมีการทอผ้าตีนจกแล้ว ยังมีการทอตัวซิ่น ทั้งที่เป็นลายก่าน คือลายขวาง และยังมีการทอผ้าลายผอมอ้วน (บางคนเรียกลายหอมอ้วน) อีกด้วย จากนั้นจึงมีการนำตัวซิ่น มาต่อตีนต่อเอว จึงจะสมบูรณ์เป็นผืนสำหรับนุ่ง หากต่อตีนด้วยลายจกแล้วมักจะใช้นุ่งในงานบุญ และโอกาสสำคัญ

    ชาวไทยวน ยังนิยมทอซิ่นลัวะ เพื่อใช้ในการนุ่งอยู่บ้านในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการรับเอาเทคนิคการมัดหมี่แบบลัวะมาใช้ พร้อมกับทอผ้าตามลวดลายของชาวลัวะ แต่มีการขยายหน้าฟืมให้กว้างขึ้น และเย็บผืนให้กว้างขึ้นกว่าของลัวะ

    http://mae-chaem.com/upload/1583679478_3.jpghttp://mae-chaem.com/upload/1583679478_3.jpgนอกจากผ้าซิ่นแล้วยังมีการจกลายหน้าหมอน สำหรับประกอบหมอนหก สำหรับใช้หนุน ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อเสริมแต่งเติมให้สวยงาม (บางพื้นที่นิยมในการปักดิ้นตรงหน้าหมอน) บางครั้งก็พบการทอลวดลายหน้าหมอนให้ติดต่อกัน เป็นผืนเพื่อใช้สำหรับทำตุงถวายวัด มักไม่ค่อยทอตุงเป็นผืนใหญ่หรือลวดลายอื่นอย่างของชาวไทลื้อ

ตุงที่เป็นลายหน้าหมอน

    ส่วนฝ้ายที่นำมาทอนั้น ก็จะเป็นฝ้ายที่ปลูกเอง ฝ้ายของแม่แจ่ม มีอยู่ด้วยกันสองสี คือ “ฝ้ายสีขาว” ที่มีจำนวนมาก และ “ฝ้ายก่อน” ที่มีสีน้ำตาล อันเป็นฝ้ายที่มีจำนวนน้อย ฝ้ายก่อนนี้เมื่อนำมาทอเป็นผืนแล้ว มักจะตัดเป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย (สัมภาษณ์ แม่อินทร์ศรี กรรณิกา, 2559) ส่วนฝ้ายสีขาวก็จะนำมาย้อมเป็นสีต่างๆ ด้วยสีจากธรรมชาติ ปัจจุบัน มักจะนำฝ้ายที่ย้อมด้วยสีเคมีจากข้างนอก เข้ามาใช้ในการทอผ้า และก็มีบางส่วนที่ยังคงใช้สีแบบธรรมชาติ (บางทีก็ขึ้นกับลูกค้าที่สั่ง)

    ช่างทอผ้าลัวะ ชาวลัวะก็นิยมทอผ้า แต่การทอผ้าของชาวลัวะนั้น ไม่ใช้กี่ทอผ้าเป็นหลังใหญ่อย่างของคนไทยวน แต่จะใช้กี่ขนาดเล็ก ผูกติดกับเอว ส่วนอีกด้านหนึ่งผูกเชือกกับเสาหรือข้างฝา โดยใช้เอวเป็นตัวดึงให้ตึงในการทอ ด้วยการที่การทอผ้าโดยผูกกับเอวนี้ จึงนิยมเรียกว่า “กี่แอว” หรือกี่เอว ฉะนั้นความกว้างของผ้าจึงไม่กว้างมาก ฉะนั้นในการตัดเย็บมักจะใช้สองผืนต่อกันตรงกลาง


ภรรยาของคุณอะดี เกตุรัตนสมบูรณ์ กำลังทอผ้าด้วยกี่เอว ที่บ้านมืดหลอง
นางกรุ ลัวะบ้านกอกน้อย กับผ้าซิ่นลัวะ
เสื้อผ้า ถุงย่าม และผ้าทอชาวลัวะ
    ผ้าทอของชาวลัวะ มีลักษณะเด่น คือ ทอแน่น และหนา เหมาะสำหรับการนุ่งในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยป้องกันอันตรายจากของมีคมได้ เพราะความหนาของผ้าช่วยป้องกันอันตรายจากของมีคมได้

    นอกจากนี้ยังมีการทอด้วยลวดลายตกแต่งสวยงาม ผ้าซิ่นบางช่วงนิยมการมัดหมี่ในเส้นยืน คนไทยวนพื้นเมืองเรียกลวดลายนี้ว่า ลายมีดซุย ซึ่งมีลักษณะคล้ายมีดซุย ส่วนชาวลัวะมองเห็นเป็นรูปนก ซึ่งซิ่นของชาวลัวะนั้นมักจะแคบและสั้น และลักษณะของผ้าซิ่นชาวลัวะนั้นก็ถ่ายทอดมายังคนไทยวนหรือคนเมืองพื้นราบด้วย จะเลียนแบบการทอลายมีดซุย หากช่างทอไม่มีความชำนาญก็จะไม่สามารถทำให้เหมือนได้ แต่ก็มีการปรับด้วยขนาดกี่ กว้างกว่า ทำให้ชาวไทยวนที่เลียนการทอของชาวลัวะมาแต่มีการปรับขนาดความยาวและความกว้างให้มากขึ้นตามความนิยมของแต่ละคน แม้ว่าคนไทยวนจะเป็นคนทอแต่ก็ยังคงเรียกซิ่นแบบนั้นว่า ซิ่นลัวะ อยู่นั่นเอง นอกจากนี้จะนิยมทอผ้าพื้นสำหรับการตัดเสื้อ (โดยเฉพาะสีขาว) ยังมีการทอผ้าห่ม ผ้าในพิธีกรรม ถุงย่าม ปลอกแขน ปลอกแข้ง และผ้ามัดเอวสำหรับผู้ชายรวมอยู่ด้วย

    ผ้าในพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีกรรมในงานศพ โดยจะมีการทอผ้ารองศพ และผ้าคลุมศพ ซึ่งผ้าคลุมเท่านั้นที่จะมีลวดลายเฉพาะตัว เชื่อว่าจะนำพาวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์ ต่อมาเมื่อมีการเปิดการค้ากับภายนอก นอกจากจะมีการนำเสื้อ ซิ่น มาขายแล้ว ยังนำลวดลายอันถือว่าเชื่อมต่อโลกมนุษย์และสวรรค์ นับว่าเป็นสิ่งมงคล มาประดับตกแต่งกับเสื้อ หรือทอเป็นผืนอีกด้วย (สัมภาษณ์ นุสรา เตียงเกตุ, 2560)
ผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมของชาวลัวะ
    ช่างทอผ้าปกาเกญอ ก็ทอผ้าโดยใช้กี่แอว เช่นเดียวกับชาวลัวะ มีเทคนิคมัดหมี่เหมือนกัน ตลอดถึงความกว้างของผืนผ้าที่มีหน้าแคบคล้ายกับชาวลัวะ อันเกิดจากกี่แอวที่ใช้ แต่จะมีการใช้สีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งพบว่ามีการใช้สีธรรมชาติ และสีเคมีควบคู่กันไป อีกทั้งยังสอดแทรกลวดลายได้มากกว่าชาวลัวะ ด้วยเทคนิคการจกด้วยลวดลายอันวิจิตรของชาวปกาเกอญอ นอกจากนี้ ยังมีการปักเข้ามาผสมผสานเมื่อมีการตัดเป็นเสื้อ ผ้าทอผู้ชาย มักจะใช้สีแดงเป็นหลัก ส่วนผู้หญิง มักจะใช้สีดำ แดง เหลือ เป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีการใช้สีเคมีมากขึ้น ทำให้มีการใช้สีอื่นๆ เข้ามาแทรกร่วมด้วย จึงมีสีสันที่สดใสร่วมสมัยมากขึ้น ผ้าทอปกาเกอญอ มีทั้งเสื้อของผู้ชาย ของหญิงสาว ของหญิงที่ออกเรือนแล้ว ผ้าคาดหัว ถุงย่าม ผ้าห่ม เป็นต้น
ผ้าทอและเสื้อผ้าชาวปกาเกอญอ
    นอกจากจะเป็นการทอแล้ว ลักษณะเด่นของชาวปกาเกอญอนั้น คือ การปัก มีการปักด้วยเส้นผ้ายหลายสี การปักลูกเดือยขนาดต่างๆ โดยนำเดือยมาจากทางอำเภอแม่นาจร หรือทางตำบลปางหินฝน มาวางลวดลาย ปัจจุบันลักษณะการปักผ้าที่สวยงามนี้มีหลายหมู่บ้าน เช่น ที่บ้านแม่หอย บ้านแม่ซา เป็นต้น
การปักผ้าแบบร่วมสมัยของชาวปกาเกอญอ

เพิ่มข้อมูลโดย : admin
แก้ไขเมื่อ : 08 มี.ค. 2563 22:11